การประยุกต์ใช้แบบจำลองสภาพจราจรระดับจุลภาคสำหรับวางแผนบริหารจัดการจราจร : กรณีศึกษาการติดตั้งโครงเหล็กคร่อมทางบนทางพิเศษ
คำสำคัญ:
แบบจำลองสภาพจราจรระดับจุลภาค, การวางแผนจัดการจราจร, ผลกระทบบทคัดย่อ
ปัจจัยสูงสุดที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุมาจากความผิดพลาดของผู้ขับขี่ แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน คือ ความบกพร่องของยานพาหนะ ถนนและสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่มีการก่อสร้างซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบและสภาพแวดล้อมเดิมของถนน ซึ่งการบริหารจัดการจราจรที่ดีจะสามารถลดปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ดังนั้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ในฐานะหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม จึงเล็งเห็นถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ทางพิเศษเป็นอันดับแรก กล่าวคือ การก่อสร้างบนทางพิเศษจะต้องมีการจัดการจราจรตามมาตรฐานการปฏิบัติงานบนทางพิเศษ โดยเฉพาะงานก่อสร้างที่ต้องปิดทางพิเศษทุกช่องจราจร เช่น การติดตั้งโครงเหล็กคร่อมทางบนทางพิเศษ เป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะส่งผลต่อผู้ใช้ทางพิเศษได้โดยตรง ดังนั้น เพื่อให้การจัดการจราจรมีประสิทธิภาพ กทพ. จึงได้ประยุกต์ใช้แบบจำลองสภาพจราจรระดับจุลภาค AIMSUN เพื่อประเมินทางเลือกและผลกระทบ และวางแผนการจัดการจราจรที่ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ทางพิเศษน้อยที่สุด โดยกำหนดทางเลือก คือ 1) ปิดการจราจรระยะสั้นทุก 10 นาที และ 2) ปิดการจราจรระยะสั้นทุก 5 นาที พร้อมทั้งประเมินผลกระทบทั้ง 2 ทางเลือกดังกล่าวโดยใช้ตัวชี้วัด คือ ความยาวแถวคอย เวลาสูญเสียเนื่องจากการล่าช้า และปริมาณจราจร โดยผลลัพธ์จากการเปรียบเทียบทางเลือกที่ 2 มีค่าของตัวชี้วัดดีกว่า และเมื่อเปรียบเทียบกับการจัดการจราจรจริงพบว่าความยาวแถวคอยเฉลี่ยที่เกิดขึ้นมีค่าใกล้เคียงกับแบบจำลอง ซึ่งทำให้การจัดการจราจรในวันติดตั้งมีความปลอดภัย และส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ทางพิเศษน้อยที่สุด