การวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ M-Flow บนทางพิเศษฉลองรัช
คำสำคัญ:
ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์, การทางพิเศษ, ทางพิเศษ, ระบบ M-Flowบทคัดย่อ
ระบบเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น Multi-Lane Free Flow (M-Flow) เป็นระบบเก็บค่าผ่านทางพิเศษรูปแบบใหม่ ซึ่งช่วยลดปัญหา การติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษ ลดการปล่อยมลภาวะในอากาศ และเพิ่มความสะดวกให้ผู้ใช้ทางสามารถชำระเงินในภายหลังได้ (Post-paid) บทความนี้นำเสนอการประเมินต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ M-Flow บนทางพิเศษฉลองรัชเพื่อใช้วิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ โดยการวิเคราะห์ต้นทุนในโครงการนั้น ได้แบ่งการวิเคราะห์ต้นทุนออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ กรณีไม่มีการดำเนินการระบบ M-Flow (Without M-Flow) และกรณีมีการดำเนินการระบบ M-Flow (With M-Flow) เพื่อใช้เปรียบเทียบความคุ้มค่าและผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการดำเนินงานระบบ M-Flow จากตัวชี้วัด เช่น มูลค่าปัจจุบันสุทธิ (Net Present Value: NPV) อัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (Economic Internal Rate of Return: EIRR) และอัตราส่วนผลประโยชน์ต่อต้นทุน (Benefit-Cost Ratio) พบว่า ณ อัตราดอกเบี้ยคิดลดทางสังคมร้อยละ 12 มูลค่าปัจจุบันสุทธิของโครงการ (Net Present Value: NPV) มีค่าเป็นบวก อัตราผลประโยชน์ส่วนต้นทุน (Benefit-Cost Ratio) อยู่ที่ 11.28 เท่า และอัตราผลตอบแทนภายในจากการลงทุน (EIRR) มากกว่าอัตราดอกเบี้ยคิดลดเท่ากับร้อยละ 120 ซึ่งหมายถึงหากดำเนินการจัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางด้วยระบบ M-Flow บนทางพิเศษฉลองรัช โครงการฯ จะให้ผลตอบแทนคุ้มค่าที่จะลงทุน