การลดปริมาณการใช้วัสดุมุงหลังคาทรงจั่วให้เหลือน้อยที่สุดในขั้นตอนการออกแบบ โดยใช้วิธีเชิงพันธุกรรมประเมินระยะห่างระหว่างแป
คำสำคัญ:
ระยะห่างแป, แบบจำลองสารสนเทศอาคาร, ลดวัสดุก่อสร้างในขั้นตอนออกแบบ, วิธีเชิงพันธุกรรมบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประยุกต์ใช้วิธีเชิงพันธุกรรมวิเคราะห์หาระยะห่างแปโครงหลังคาทรงจั่วให้ใช้วัสดุมุงน้อยที่สุด งานวิจัยเริ่มจากการนำแบบ 2 มิติ ของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก 4 ชั้นหลังคาทรงจั่ว มาสร้างเป็นแบบจำลอง 3 มิติ ด้วยระดับความละเอียดของโมเดล LOD350 โดยอาศัยซอฟท์แวร์บิม (BIM Software) จากนั้นกำหนดรูปแบบจำลองระยะห่างแปตามหลักวิศวกรรมและข้อกำหนดต่างๆ ของผู้ผลิตวัสดุมุง (กระเบื้องลอนคู่) โดยกำหนดตัวแปรที่ใช้ในการคำนวณหาปริมาณกระเบื้องลอนคู่ คือ ระยะห่างแป ความสูงดั้ง ความกว้างและความยาวของหลังคา ด้วยการปรับเปลี่ยนตัวแปรความสูงดั้งตั้งแต่ความสูง 3.00-5.00 เมตร จากนั้นผู้วิจัยได้ทำการออกแบบจีเนติกอัลกอริทึมแบบจุดประสงค์เดียว และกำหนดพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ด้วยวิธีการขั้นตอนเชิงพันธุกรรมคำนวณหาค่าความเหมาะสมในการใช้ปริมาณกระเบื้องลอนคู่ พบว่าปริมาณกระเบื้องลอนคู่ที่ได้จากการใช้วิธีเชิงพันธุกรรมเท่ากับการทำแบบรายละเอียดก่อสร้าง (Shop Drawing) คือ 3,310 แผ่น แสดงให้เห็นว่าการใช้วิธีเชิงพันธุกรรมร่วมกับแบบจำลองสารสนเทศอาคารสามารถนำมาใช้ในการหาระยะห่างแปได้เป็นอย่างดี และการใช้วิธีเชิงพันธุกรรมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีใกล้เคียงตามวัตถุประสงค์ของโครงการก่อสร้างโดยสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อลดปริมาณการใช้วัสดุก่อสร้างหรือลดปริมาณวัสดุเหลือใช้เพื่อตอบสนองต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน