แนวทางการจัดทำบัญชีรายการตัดเหล็กให้เหลือเศษเหล็กเส้นน้อยที่สุดด้วยวิธีเชิงพันธุกรรม
คำสำคัญ:
บัญชีการตัดเหล็ก, แบบจำลองสารสนเทศอาคาร, ระดับความละเอียด, วิธีเชิงพันธุกรรมบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแนวทางการจัดทำบัญชีรายการตัดเหล็กให้ได้ปริมาณเหล็กเส้นและเศษเหล็กเส้นน้อยที่สุด โดยวิธีเชิงพันธุกรรม งานวิจัยเริ่มจากการนำแบบ 2 มิติ ของอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กต้านแผ่นดินไหว 4 ชั้น มาสร้างเป็นแบบจำลอง 3 มิติ ด้วยระดับความละเอียดของโมเดล LOD300 และ LOD350 โดยอาศัยซอฟท์แวร์บิม (Software BIM) จากนั้นกำหนดรูปแบบจำลองการต่อทาบเหล็กเส้น ตามมาตรฐานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กต้านแผ่นดินไหว มยผ. 1301/1302-61 ด้วยรูปการต่อทาบเหล็กเสา 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 (C1-1) ต่อทาบเหล็กยืนกึ่งกลางชั้น 2 รูปแบบที่ 2 (C1-2) ต่อทาบเหล็กยืนกึ่งกลางชั้น 3 และ รูปแบบที่ 3 (C1-3) ต่อทาบเหล็กยืนกึ่งกลางทุกชั้น ลงในแบบจำลอง ซึ่งการประมวลผลของซอฟท์แวร์บิมได้แสดงผลออกมาในรูปแบบตารางบัญชีรายการตัดเหล็กที่ประกอบด้วยข้อมูลความยาวเหล็กเส้น และจำนวนเหล็กที่ต้องการใช้ จากนั้นผู้วิจัยได้ทำการออกแบบจีเนติกอัลกอริทึมแบบจุดประสงค์เดียว และกำหนดพารามิเตอร์ที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ สำหรับการแก้ปัญหาการจัดทำบัญชีรายการตัดเหล็ก ด้วยวิธีการขั้นตอนเชิงพันธุกรรมคำนวณหาค่าความเหมาะสมในการใช้ปริมาณเหล็กและเศษเหล็กเส้น งานวิจัยได้ทำการเปรียบเทียบปริมาณการใช้เหล็กเส้นจากการจัดทำบัญชีรายการตัดเหล็กของวิศวกรที่มีประสบการณ์ กับการจัดทำบัญชีรายการตัดเหล็กวิธีเชิงพันธุกรรม การศึกษาพบว่าการจัดทำบัญชีรายการตัดเหล็กวิธีเชิงพันธุกรรม ของเสารูปแบบ C1-2 ใช้เหล็กที่ความยาว 12 เมตร ได้ปริมาณการใช้เหล็กเส้นน้อยที่สุด คือ 33,557.16 กิโลกรัม เศษเหล็กเหลือ 1,781.78 กิโลกรัม คิดเป็นอัตราส่วนเศษเหล็กต่อปริมาณการใช้เท่ากับ 5.31 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการใช้วิธีเชิงพันธุกรรมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ให้ผลลัพธ์ที่ดีใกล้เคียงตามวัตถุประสงค์ขององค์กรก่อสร้าง