พฤติกรรมการยอมรับช่องว่างของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์บริเวณทางเข้าวงเวียนภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
คำสำคัญ:
ช่องว่าง, ช่องว่างวิกฤต, การยอมรับช่องว่าง, วงเวียน, รถจักรยานยนต์บทคัดย่อ
วงเวียนสมัยใหม่เป็นมาตรการควบคุมทางแยกที่มีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมพฤติกรรมการใช้ความเร็วของผู้ขับขี่และลดความขัดแย้งบริเวณทางแยกได้ อย่างไรก็ตาม กายภาพวงเวียนอาจไม่สามารถบังคับพฤติกรรมของรถขนาดเล็ก เช่น ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งเลือกวิ่งได้ทุกตำแหน่งในทางช่องจราจร ดังนั้น การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาขนาดช่องว่างวิกฤตและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการยอมรับช่องว่างของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ในบริเวณทางเข้าวงเวียน การศึกษานี้ตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ขับขี่ที่ทางเข้า 14 ตำแหน่ง ในบริเวณวงเวียน 4 แห่ง ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ใช้อากาศยานไร้คนขับ (UAV) บันทึกสภาพการจราจร สังเกตและบันทึกข้อมูลการตัดสินใจของผู้ขับขี่ต่อการยอมรับหรือปฏิเสธช่องว่าง 813 ครั้ง วิเคราะห์ขนาดช่องว่างวิกฤตด้วยวิธีการของ Raff และใช้วิธีวิเคราะห์การถดถอยโลจิสติกทวิอธิบายปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการยอมรับช่องว่าง ผลการศึกษาพบว่าช่องว่างวิกฤตของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์มีขนาด 2.63 วินาที โดยปัจจัยที่มีอิทธิพลทำให้โอกาสยอมรับช่องว่างมากขึ้น ได้แก่ ขนาดช่องว่างที่ใหญ่ขึ้น การที่ผู้ขับขี่ที่เลือกเข้าวงเวียนในด้านไกลจมูกวงเวียนและเลือกชิดซ้ายในทางวิ่งวน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกาะกลางวงเวียนที่มีขนาดใหญ่ และรัศมีการเบนแนวทางเคลื่อนที่กว้าง ในขณะที่ปัจจัยที่มีอิทธิพลที่ทำให้การยอมรับช่องว่างลดลงคือ การมีผู้โดยสารซ้อนท้าย และในกรณีที่รถคันหลังในช่องว่างเป็นรถยนต์