ผลสัมฤทธิ์ของนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ของนักศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธาด้วยเทคนิคห้องเรียนกลับด้านโดยใช้ ICT เป็นฐาน
คำสำคัญ:
ห้องเรียนกลับด้าน, การจัดการเรียนรู้, วิศวกรรมโยธา, วิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการ, วิธีสายทางวิกฤตบทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์พฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน และ 3) เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนจากการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคห้องเรียนกลับด้านโดยใช้ Information and communication technology (ICT) เป็นฐาน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาสาขาวิชาวิศวกรรมโยธา (หลักสูตรวิศวกรรมโยธา) คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย ที่ลงทะเบียนเรียนรายวิชาวิศวกรรมก่อสร้างและการจัดการ ในภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2565 จำนวน 71 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูล คือ 1) แบบทดสอบก่อนเรียน (pre-test) และแบบทดสอบหลังเรียน (post-test) จำนวน 15 คำถาม 2) แบบสอบถามความพึงพอใจหลังการใช้สื่อการเรียนรู้ของนักศึกษาสาขาวิศวกรรมโยธาด้วยเทคนิคห้องเรียนกลับด้านโดยใช้ ICT เป็นฐาน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย สถิติพื้นฐาน คือ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติที่ใช้ทดสอบสมมติฐาน คือ t-test for dependent sample ผลการวิจัยสรุปได้ว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนได้รับการจัดการเรียนการสอนด้วยเทคนิคห้องเรียนกลับด้านโดยใช้ ICT เป็นฐานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และนักศึกษาที่ได้รับการจัดการเรียนรู้ด้วยเทคนิคห้องเรียนกลับด้านโดยใช้ ICT เป็นฐานมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้ทุกด้านอยู่ในระดับมาก