ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความสามารถในการเดินเท้า เพื่อเข้าถึงพื้นที่สีเขียวภายในหมู่บ้านจัดสรร

  • เผด็จ สุขพัฒนาเจริญ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • เกรียงไกร อรุโณทยานันท์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ดำรงศักดิ์ รินชุมภู ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คำสำคัญ: ความสามารถในการเดินเท้า, ความสามารถเข้าถึงพื้นที่สีเขียว, หมู่บ้านจัดสรร, แบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียม, การเดินทางแบบไม่ใช้เครื่องยนต์

บทคัดย่อ

การสัญจรด้วยการเดินเท้า ได้รับการคำนึงถึงมากขึ้นในการวางแผนและตัดสินใจทางการขนส่งในปัจจุบัน องค์ประกอบหลักส่วนหนึ่งของการสร้างชุมชนพอเพียงและน่าอยู่ คือ ชุมชนที่สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้คนสามารถเดินเท้าเพื่อเข้าถึงพื้นที่กิจกรรมและปฏิสัมพันธ์กันได้อย่างสะดวก อย่างไรก็ตามการพัฒนาชุมชน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางกายภาพแต่เพียงส่วนเดียว แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนผู้ใช้งาน ทั้งคุณลักษณะทางสังคมและเศรษฐกิจ ทัศนคติ และพฤติกรรมการเดินเท้า งานวิจัยนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อศึกษาความสามารถในการเดินเท้าและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นพฤติกรรมการเดินเท้าของผู้อยู่อาศัยเพื่อเข้าถึงพื้นที่สวนสาธารณะภายในหมู่บ้านจัดสรร บทความนี้นำเสนอการประยุกต์แบบจำลองโครงข่ายประสาทเทียม ด้วยข้อมูลที่รวบรวมจากผู้อยู่อาศัยภายในหมู่บ้านจัดสรรในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถในการเดินเท้า ซึ่งในที่นี้คือระยะเดินเท้าจากบ้านไปยังสวนสาธารณะ กับปัจจัยอิทธิพลที่เป็นไปได้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยส่วนบุคคลของผู้อยู่อาศัยและปัจจัยสิ่งแวดล้อมเชิงกายภาพ ผลการวิเคราะห์พบว่า ระยะทางเดินเท้าแตกต่างกันตามปัจจัยด้านเพศ อายุ และรายได้ โดยกลุ่มชายวัยกลางคนที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มที่จะมีระยะเดินเท้าไกลที่สุด ขณะที่กลุ่มหญิงสูงวัยรายได้ต่ำมีระยะเดินเท้าใกล้สุด นอกจากนี้ยังพบอีกว่าสภาพชุมชนทำให้พฤติกรรมการเดินเท้าเปลี่ยนแปลงไป เช่น ทางเท้าที่ร่มรื่นช่วยให้เดินได้ระยะทางไกลมากขึ้น ผลการศึกษาสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเจ้าหน้าที่ในการวางแผน กำหนดตำแหน่ง และจัดสรรพื้นที่สีเขียวสำหรับหมู่บ้านจัดสรร

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2021-06-24
สาขาของบทความ
วิศวกรรมขนส่ง จราจรอัจฉริยะ และโลจิสติกส์

แนะนำบทความที่มีผู้เขียนคนเดียวกันกับบทความนี้