ความสัมพันธ์ระหว่างความต้านทานทางไฟฟ้ากับสมบัติทางวิศวกรรมเทคนิคธรณีของดิน

  • วรัชญ์ สกุลพจน์วรชัย ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • วรัช ก้องกิจกุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
คำสำคัญ: ความต้านทานไฟฟ้า, การวิเคราะห์เชิงถดถอยแบบพหุคูณ, ดินคัดขนาด, สภาพต้านทานไฟฟ้า, สมบัติทางวิศวกรรมเทคนิคธรณี

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้ศึกษาพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงสภาพต้านทานไฟฟ้าในวัสดุดิน ได้แก่ ดินลูกรังและทรายละเอียด ซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงตามสมบัติทางวิศวกรรมเทคนิคธรณีของดิน อาทิ ปริมาณความชื้นและความหนาแน่นแห้งของดิน ทั้งนี้สมบัติการต้านทานไฟฟ้าอาจมีความสัมพันธ์กับสมบัติทางวิศวกรรมเทคนิคธรณีของดิน การศึกษานี้ได้ทดลองความต้านทานไฟฟ้า โดยจ่ายกระแสไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟผ่านตัวอย่างดิน ที่บรรจุในแบบจำลองกล่องดิน (Soil box) โดยใช้ตัวอย่างดินลูกรังจาก อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย ประเทศไทย และทราย มจธ. (ทรายที่ผ่านตะแกรงเบอร์ 40 และค้างบนตะแกรงเบอร์ 100) และทำการทดสอบการบดอัดเพื่อหาค่าความหนาแน่นแห้งสูงสุด (maximum dry density) และความชื้นที่เหมาะสม (optimum moisture content) จากนั้นจึงกำหนดปริมาณความชื้นและความหนาแน่นแห้ง และทำการบดอัดดินที่เตรียมไว้ที่ความชื้นที่กำหนดลงในกล่องทดลองให้ได้ความหนาแน่นแห้งตามที่กำหนด และควบคุมความต่างศักย์ของการทดสอบให้อยู่ในช่วงระหว่าง 3 ถึง 30 โวลต์ การทดสอบพบว่าความชื้นและความหนาแน่นแห้งมีความสัมพันธ์กับความต้านทานไฟฟ้า และได้มีการใช้การวิเคราะห์เชิงถดถอยแบบพหุคูณในการสร้างสมการทำนาย และมีการใช้วิธีพื้นผิวตอบสนองในการช่วยวิเคราะห์ ซึ่งความสัมพันธ์ที่ได้จากการทำนายดังกล่าวมีแนวโน้มโดย ค่าความต้านทานมีแนวโน้มที่จะลดลงตามการเพิ่มขึ้นของทั้งความชื้นและความหนาแน่นแห้ง

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2020-07-09

แนะนำบทความที่มีผู้เขียนคนเดียวกันกับบทความนี้