แบบจำลองการพยากรณ์ต้นทุนของสำนักงานอาคารเขียว ภายใต้การทำงานแบบวิถีชีวิตใหม่ภายหลังสถานการณ์โควิด-19
คำสำคัญ:
สำนักงานอาคารเขียว, ต้นทุน, ความคุ้มค่าบทคัดย่อ
อาคารเขียวเป็นอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) การลงทุนพัฒนาอาคารเขียวเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและมีความท้าท้ายเนื่องจากต้นทุนสูง อาคารเขียวตามเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย (TREES) ประกอบด้วย 4 ระดับ ได้แก่ ระดับผ่าน (Certified) ระดับดี (Silver) ระดับดีมาก (Gold) และระดับดีเด่น (Platinum) การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลก กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายการปรับตารางเวลาทำงานและการใช้งานอาคาร เมื่อสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายการวางแผนการลงทุนต้องรอบคอบมากขึ้นโดยเฉพาะการพิจารณารูปแบบการทำงานแบบวิถีชีวิตใหม่ (New Normal) เช่น การทำงานทางไกล (Remote Working) การทำงานแบบผสมผสาน (Hybrid Working) และการทำงานที่สำนักงาน (Work from Office) งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างแบบจำลองการพยากรณ์ต้นทุนของสำนักงานอาคารเขียวภายใต้การทำงานแบบวิถีชีวิตใหม่ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 และวิเคราะห์ความคุ้มค่าในการลงทุนด้วยความผันแปรของอุปสงค์และอุปทาน อุปสงค์คือการทำงานแบบวิถีชีวิตใหม่ซึ่งมีผลต่อจำนวนผู้เข้าใช้อาคาร การผันแปรของอุปทาน ได้แก่ ระดับการลงทุนความเป็นอาคารเขียว อาคารที่ไม่เป็นอาคารเขียว และพื้นที่เชิงพาณิชย์ งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่ารูปแบบสำนักงานที่มีความคุ้มค่าในการลงทุนสูงที่สุดคือสำนักงานที่ไม่เป็นอาคารเขียวพร้อมพื้นที่เชิงพาณิชย์ 1 ชั้น เมื่อพิจารณามูลค่าปัจจุบันสุทธิเฉลี่ยจากการวิเคราะห์การตัดสินใจแผนภูมิต้นไม้มีผลตอบแทนทางการเงินเท่ากับ 206,152,328 บาท ในระยะเวลาโครงการ 25 ปี ที่อัตราคิดลดร้อยละ 10 ซึ่งมีค่าสูงที่สุด ดังนั้นการลงทุนในการพัฒนาสำนักงานอาคารเขียวจะมีความคุ้มค่าเมื่อมีการวางแผนระยะเวลาการลงทุนให้สอดรับกับสถานการณ์การใช้งานอาคาร