การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า ด้วยวิธี FAHP และ TOPSIS
คำสำคัญ:
รถยนต์ไฟฟ้า, กระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์แบบฟัซซี, เทคนิคการเรียงลำดับตามอุดมคติ, การพัฒนาอย่างยั่งยืนบทคัดย่อ
การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าโดยการเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดของภาคขนส่งเป็นการดำงานตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ข้อ 7 ขององค์การสหประชาชาติ (United Nations 2022, UN) การกำหนดแนวทางการลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าเป็นสิ่งสำคัญ นโยบายการลงทุนที่เอื้อต่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมประกอบด้วย การลงทุนสถานีชาร์จไฟฟ้า การใช้แอพพลิเคชั่น การส่งเสริมความปลอดภัย และการสร้างความเชื่อมั่นซึ่งเป็นการตัดสินใจที่มีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายฝ่าย งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแนวทางการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าภายใต้มุมมองด้านความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสังคม การวิเคราะห์ปัจจัยด้วยกระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์แบบฟัซซี (FAHP) และการจัดลำดับทางเลือกรถยนต์ไฟฟ้าด้วยวิธีเทคนิคการเรียงลำดับตามอุดมคติ (TOPSIS) ผลการตัดสินใจรวบรวมได้จากผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ผลการวิเคราะห์พบว่าปัจจัยที่มีอิทธิพลได้แก่ ความปลอดภัย ความคุ้มค่าด้านราคา ความคุ้มค่าด้านวิศวกรรม การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และความเชื่อมั่นในนวัตกรรม ผลการเลือกใช้รถยนต์ที่เหมาะสมได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง รถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด และรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน ตามลำดับ ผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าแนวทางการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าในปี พ.ศ. 2566 มุ่งเน้นไปที่การรองรับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่และในระยะยาวมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงเมื่อมีความพร้อมมากขึ้น