การศึกษาปัจจัยเบื้องต้นที่มีผลต่อความพึงพอใจและความคาดหวังในการเดินทาง โดยรถรับ-ส่งสาธารณะ ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น
คำสำคัญ:
ความพึงพอใจ, ความคาดหวัง, รถรับ-ส่งสาธารณะ, การวิเคราะห์ปัจจัยบทคัดย่อ
ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขอนแก่นและบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยพบปัญหาจราจรติดขัด เนื่องจากมีการเดินทางโดยการใช้รถจักรยานยนต์ และรถยนต์ส่วนตัวเป็นจำนวนมาก หนึ่งในทางเลือกในการลดปัญหาจราจรติดขัดคือการเพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งสาธารณะ การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อหาปัจจัยเบื้องต้นที่มีผลต่อความพึงพอใจและความคาดหวังในการเดินทางโดยรถรับ-ส่งสาธารณะ ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น โดยทำการศึกษาความพึงพอใจจากผู้ใช้บริการและความคาดหวังจากผู้ไม่ใช้บริการรถรับ-ส่งสาธารณะ และศึกษาทัศนคติต่อการกำหนดพื้นที่เขตควบคุม (Car free zone)/จำกัดการเดินรถ (Car less zone) พร้อมทั้งหาแนวทางและมาตรการในการเพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มอุปสงค์ในการใช้บริการรถรับ-ส่งสาธารณะ ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น สำรวจข้อมูลโดยการสำรวจทางกายภาพและใช้เครื่องมือแบบสอบถามในการเก็บรวบรวมข้อมูล จำนวน 800 ชุด จากผลเบื้องต้นในการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่ออุปสงค์ โดยวิธีการวิเคราะห์ปัจจัย (Factor Analysis) พบว่ามี 5 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความพึงพอใจและความคาดหวังของผู้ใช้และไม่ใช้บริการรถรับ-ส่งสาธารณะ ได้แก่ ด้านการให้บริการ ด้านกายภาพ ด้านเวลาและความน่าเชื่อถือ ด้านความปลอดภัย และด้านความคุ้มค่า จากปัจจัยดังกล่าว พบว่า ปัจจัยด้านกายภาพและด้านเวลาและความน่าเชื่อถือนั้น ส่งผลกระทบต่อความพึงพอใจและความคาดหวังของผู้ใช้และไม่ใช้บริการรถรับ-ส่งสาธารณะมากที่สุด และจากการสำรวจทัศนคติต่อการกำหนดพื้นที่เขตควบคุม (Car free zone)/จำกัดการเดินรถ (Car less zone) พบว่าการจัดสรรพื้นที่ให้จอดรถส่วนบุคคล แล้วเปลี่ยนรูปแบบการเดินทางเป็นรถรถรับ-ส่งสาธารณะ เพื่อเข้ามายังบริเวณพื้นที่เขตควบคุม (Car free zone)/จำกัดการเดินรถ (Car less zone) ภายในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับความพึงพอใจมากที่สุด