การศึกษาพฤติกรรมการรับแรงของคานจากการใช้แบบด้วยการพิมพ์ 3 มิติ
คำสำคัญ:
เทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ, การพิมพ์แบบ Fused Deposition Modeling (FDM), คาน, พฤติกรรมการรับแรงดัดบทคัดย่อ
ในปัจจุบันลักษณะการออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมมีความหลากหลายและซับซ้อนมากขึ้นทำให้งานก่อสร้างมักจะประสบปัญหาในการตั้งแบบหล่อชิ้นส่วนโครงสร้างต่าง ๆ เช่น คานโค้ง หรือคานที่เป็นรูปแบบอิสระที่ยากต่อการทำงาน และด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบ 3 มิติ ที่มีความอิสระต่อการพิมพ์ชิ้นงานต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในด้านงานก่อสร้าง ดังนั้นงานวิจัยนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการรับแรงดัดของคานคอนกรีตที่ใช้กรอบแบบ (Formwork) จากการพิมพ์คอนกรีต 3 มิติ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติด้านการรับกำลังของคานช่วงเดียว (Simple beam) กรอบแบบดังกล่าวถูกพิมพ์ด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์แบบระบบฉีดเส้นวัสดุ หรือ Fused Deposition Modeling (FDM) ซึ่งเป็นการพิมพ์คอนกรีตซ้อนกันไปจนได้กรอบแบบ โดยในการวิจัยนี้ได้สร้างกรอบแบบที่มีความสูงของแต่ละชั้นการพิมพ์แตกต่าง 3 แบบ ได้แก่ ชั้นการพิมพ์ความสูง 15.0 mm (BH1.50) 17.5 mm (BH1.75) และ20.0 mm (BH2.00) และสังเกตลักษณะการวิบัติของคานที่เกิดขึ้น จากนั้นผลการทดสอบจะถูกนำมาวิเคราะห์และเปรียบเทียบผลเพื่อหาความแตกต่างจากการออกแบบคานคอนกรีตเสริมเหล็กปกติ (NB)