การศึกษาพฤติกรรมความเร็วในการขับขี่บนทางยกระดับ ช่วง Lockdown ภายใต้สถานการณ์ COVID-19
คำสำคัญ:
ความเร็วจำกัด, ทางยกระดับ, พฤติกรรมการขับขี่, ทางพิเศษบทคัดย่อ
ทางยกระดับอุตราภิมุขช่วงดินแดง-อนุสรณ์สถานเป็นทางยกระดับขนาด 3 ช่องจราจรต่อทิศทาง มีความยาวประมาณ 21 กิโลเมตร มีให้บริการลักษณะเดียวกันกับทางพิเศษ กล่าวคือเป็น Freeway ที่ออกแบบด้วยมาตรฐานเรขาคณิตทางถนนสูง ไม่มีสัญญาณไฟจราจร มีการควบคุมทางขึ้น-ลง ควบคุมประเภทยานพาหนะ มีการจัดให้มีอุปกรณ์ให้ข้อมูลด้านการจราจรและอุปกรณ์ความปลอดภัยด้านการจราจรที่ดี มีการบำรุงรักษาและคงระดับการให้บริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ด้วยความที่เป็นถนนมาตรฐานสูง ทำให้ใช้ความเร็วได้เป็นอย่างดี ต่อมามีความต้องการที่จะปรับเปลี่ยนการจำกัดความเร็ว (Speed Limit) บนทางยกระดับ จึงต้องมีการศึกษาพฤติกรรมการใช้ความเร็วบนทางยกระดับ แต่ในช่วงปี 2564 ที่ผ่านมา มีการ Lockdown เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโรค COVID-19 ดังนั้น นอกจากพฤติกรรมการการใช้ความเร็วในช่วงเวลาของวัน และ ในวันของสัปดาห์แล้ว จึงได้ศึกษาด้วยว่า การ Lockdown จะมีผลต่อพฤติกรรมการใช้ความเร็วบนทางยกระดับด้วยหรือไม่ Speed Limit ใช้ค่าความเร็วที่ 85th Percentile ของรถแต่ละประเภทเป็นค่าความเร็วสำคัญ วิธีการตรวจวัดได้ใช้ Microwave Radar ที่ติดตั้งบนทางยกระดับตลอดความยาวทางยกระดับ จำนวน 14 จุด ตรวจวัดความเร็วรถยนต์ทุกคันตลอด 24 ชั่วโมง ในช่วงปี 2564 ตั้งแต่ก่อนมีการแพร่ระบาดของ COVID19 (ระลอกที่ 3 สายพันธ์ Delta) ระหว่างการแพร่ระบาด ระหว่างการ Lockdown และภายหลังการ Lockdown นำมาคำนวณหาความเร็วสำคัญสำหรับรถ 2 ประเภท คือรถยนต์และรถบรรทุก พบว่า ค่าความเร็วสำคัญของรถยนต์เท่ากับ 119 กม./ชม. และ เท่ากับ 97 กม./ชม. สำหรับรถบรรทุก โดยที่ความเร็วสำคัญ ไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ไม่ว่าจะเป็นช่วงกลางวันหรือกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นวันธรรมดาหรือวันสุดสัปดาห์ หรือ แม้แต่ช่วงเวลาที่มีสถานการณ์ COVID19 ก็ตาม ดังนั้น Speed Limit สามารถกำหนดเป็นค่าคงที่ได้ ไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตามช่วงเวลา