การศึกษาเปรียบเทียบการใช้ความเร็วของยานพาหนะตามกฎหมายที่ 120 กม./ชม. ระหว่างทางหลวงหมายเลข 32 กับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7

  • วรรณิกา ขันคำนันต๊ะ สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
  • ทวีศักดิ์ แตะกระโทก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
  • ทิพย์วิมล แตะกระโทก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
  • บุญพล มีไชโย ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
  • ดลยฤทธิ์ เสฏฐสุวจะ สาขาเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จ.พิษณุโลก
คำสำคัญ: ความเร็ว, กล้องตรวจจับความเร็ว, ทางหลวง, ความรุนแรงของอุบัติเหตุ, ความปลอดภัยทางถนน

บทคัดย่อ

ปัจจุบันสาเหตุหลักของการเกิดอุบัติเหตุที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยเกิดจากสาเหตุการใช้ความเร็วสูงในการขับขี่ยานพาหนะ โดยสอดคล้องกับรายงานข้อมูลทางสถิติอุบัติเหตุบนทางหลวงของกรมทางหลวงที่พบว่าสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุและเสียชีวิตร้อยละ 70-80 มีมูลเหตุสันนิษฐานว่าเกิดจากการใช้ความเร็วสูง และยานพาหนะที่ประสบเหตุกว่าร้อยละ 60 คือยานพาหนะประเภทรถยนต์เก๋งและกระบะ ในวันที่ 10 มีนาคม 2564 ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 138 ตอนที่ 17 ก ได้เผยแพร่ “กฎกระทรวงกำหนดอัตราความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบทที่กำหนด พ.ศ. 2564” ของกระทรวงคมนาคม ประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากคือการกำหนดให้ “รถยนต์ส่วนบุคคล” ใช้ความเร็วไม่เกิน 120 กม./ชม. และถ้าอยู่ในช่องขวาสุดให้ใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง งานวิจัยนี้คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบการประเมินความเร็วระหว่างทางหลวงหมายเลข 32 กับทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ซึ่งเป็นสายทางที่กำหนดให้ยานพาหนะใช้ความเร็วได้ไม่เกิน 120 กม./ชม. ทั้งขาเข้าและขาออก ด้วยกล้องตรวจจับความเร็วชนิดเลเซอร์ โดยเก็บข้อมูลความเร็วของยานพาหนะทุกช่องจราจรแบบการไหลอิสระ และเก็บข้อมูลความเร็วนอกเวลาเร่งด่วนทั้งสองสายทาง ผลการศึกษาพบว่าค่าความเร็วในการขับขี่ยานพาหนะทั้งขาเข้าและขาออกเปอร์เซ็นไทล์ที่ 85 ของทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 คือ 130.47 กม./ชม. และค่าเฉลี่ยความเร็วของยานพาหนะบนทางหลวงหมายเลข 32 คือ 127.23 กม./ชม. ถือได้ว่าผู้ขับขี่ยานพาหนะทั้งสองสายทางใช้ความเร็วในการขับขี่ที่การไหลอิสระสูงกว่าความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด นำไปสู่ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุส่งผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ขับขี่ยานพาหนะบนท้องถนน

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2023-07-08

แนะนำบทความที่มีผู้เขียนคนเดียวกันกับบทความนี้