การใช้แกนกัญชงและเส้นใยกัญชงเสริมแรงดินเหนียวบดอัด

  • วรรณิกา ขันคำนันต๊ะ สาขาวิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมโยธา คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม
  • ภูริชัย แก้วมา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
  • ณัฐนนท์ คุ้มครุฑ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก
  • กรกฎ นุสิทธิ์ สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก
คำสำคัญ: กัญชง, กําลังอัดแกนเดียว, แรงอัดแบบสามแกน

บทคัดย่อ

กัญชงได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศไทยหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศปลดล็อคให้สามารถผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 ที่ผ่านมา ด้วยคุณประโยชน์มากมายจากทุกส่วนของกัญชงทำให้กัญชงมีศักยภาพที่จะกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย ซึ่งปัจจุบันพบแหล่งเพาะปลูกมากในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยโดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่มีการเพาะปลูกกัญชงและนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมประเภทต่างๆ งานวิจัยนี้ได้ศึกษาคุณสมบัติทางกลของแกนและเส้นใยของกัญชงมาผสมดินเหนียวซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุก่อสร้างชีวภาพ โดยนำแกนและเส้นใยของกัญชงมาผ่านกระบวนการจนได้ความยาวขนาด 0.5 และ 2 ซม. ผสมกับดินเหนียวจากแหล่งดินเหนียวจังหวัดพิษณุโลก ทำการทดสอบคุณสมบัติพื้นฐานของวัสดุและออกแบบอัตราส่วนผสมด้วยการกำหนดอัตราส่วนผสมร้อยละ 0.5 และร้อยละ 1 ต่อน้ำหนักของดินเหนียว จากนั้นทำการทดสอบประสิทธิภาพกำลังอัดด้วยการทดสอบคุณสมบัติกําลังอัดแกนเดียว (Unconfined Compression Test) และการทดสอบแรงอัดแบบสามแกน (Triaxial Test) ผลการทดสอบพบว่าเมื่อเพิ่มปริมาณแกนกัญชงในอัตราส่วนผสมทำให้กำลังรับแรงเฉือนลดลง แต่เมื่อเพิ่มเส้นใยกัญชงกำลังรับแรงเฉือนจะสูงขึ้น แสดงให้เห็นว่ากระบวนการแปรรูป การกำหนดขนาด และการกำหนดปริมาณของกัญชงมีผลต่อประสิทธิภาพการรับแรงของกัญชงผสมดินเหนียว

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2023-07-07

แนะนำบทความที่มีผู้เขียนคนเดียวกันกับบทความนี้