การทดสอบคุณสมบัติผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีตบนทางยกระดับจากการใช้งานกว่า 26 ปี
คำสำคัญ:
วิธีมาร์แชลล์, IRI, IFI, ทางยกระดับ, ทางพิเศษบทคัดย่อ
ทางยกระดับอุตราภิมุขช่วงดินแดง-อนุสรณ์สถานเป็นทางยกระดับขนาด 3 ช่องจราจรต่อทิศทาง มีความยาวประมาณ 21 กิโลเมตร มีทางขึ้นลงจำนวน 24 จุด โครงสร้างส่วนบนมีความกว้างรวม 25.35 เมตร เป็นคานคอนกรีตอัดแรงรูปตัวที (T-Girder) จำนวน 10 ตัว พื้นคอนกรีตเทในที่หนา 18 เซนติเมตร ปูลาดทับด้วยผิวแอสฟัลต์คอนกรีต หนา 5 เซนติเมตร มีรอยต่อเพื่อการขยายตัวในทุกๆ เสา เป็นชนิด Strip Seal และปูทับด้วย Asphaltic Plug Joint รองรับปริมาณจราจรประมาณ 100,000 เที่ยวต่อวัน ทางเปิดให้บริการมาตั้งแต่ปี 2537 ยังไม่พบความเสียหายของผิวทางที่แสดงถึงการเสื่อมกำลังวัสดุ อาทิ หลุมบ่อ หรือ ร่องล้อ ได้ปรับปรุงเพื่อเพิ่มความฝืดด้วยวิธี Micro Surfacing ในปี 2550 และ 2559 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามผิวทางใช้งานมาตั้งแต่ 2537 เพื่อให้เกิดความมั่นใจในคุณภาพของผิวทาง จึงได้ทดสอบคุณสมบัติวัสดุและประเมินคุณภาพ หลังจากใช้งานผิวทางมาเป็นระยะเวลากว่า 26 ปี ได้เจาะตัวอย่างวัสดุทุกๆ 1 กิโลเมตร ทั้ง 3 ช่องทาง ทดสอบความหนาแน่น ปริมาณช่องว่าง ร้อยละของแอสฟัลต์ในส่วนผสม ค่ากำลังและการไหล (Stability & Flow) และทำการตรวจวัดความผืด (IFI) ของผิวทางด้วยวิธี Fixed Slip พร้อมกับตรวจวัดความขรุขระ (IRI) และความลึกร่องล้อแบบต่อเนื่องด้วย Laser Profilometer จากนั้นเอาผลการเจาะสำรวจวัสดุ วางซ้อนกับค่า IFI, IRI และค่าร่องล้อ โดยอ้างอิงกับพิกัด GPS ควบคู่กับภาพถ่าย เพื่อใช้ในการวิเคราะห์คุณสมบัติผิวทางด้วยข้อมูลที่รอบด้านเท่าที่ตรวจวัดได้ ตัวอย่างวัสดุจำนวน 197 ก้อน มีความหนาแน่น 2.22-2.46 กรัม/ลบ.ซม ปริมาณช่องว่าง 1.7-11.3% ปริมาณแอสฟัลต์ 4.95-5.13% ค่า Stability 1,523-6,850 ปอนด์ ตัวอย่าง 99% มีคุณสมบัติเป็นไปตามมาตรฐานกรมทางหลวง ทล.-ม. 408 ความลึกร่องล้อเฉลี่ย 5.11 มิลลิเมตรปริมาณพื้นที่เป็นไปตามมาตรฐาน 99.5% ค่าความขรุขระเฉลี่ย 2.74 เมตร/กิโลเมตร ปริมาณพื้นที่เป็นไปตามมาตรฐาน 94.9% และ ค่าความฝืดเฉลี่ย 0.41 ปริมาณพื้นที่เป็นไปตามมาตรฐาน 95.6% โดยรวมแล้วถือว่าวัสดุแอสฟัลต์มีคุณสมบัติดีกว่าที่คาดสำหรับผิวทางอายุ 26 ปี และยังคงมีความเรียบและความฝืดเป็นตามมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง