การทำนายความแข็งแรงของวัสดุชั้นพื้นทางที่ปรับปรุงด้วยซีเมนต์พอลิเมอร์ด้วยคลื่นความถี่เรโซแนนท์
บทคัดย่อ
ในปัจจุบันการทดสอบด้วยคลื่นความถี่เรโซแนนท์กำลังได้รับความนิยมสำหรับการศึกษาพฤติกรรมและประสิทธิภาพของวัสดุงานทาง เนื่องจากเป็นการทดสอบแบบไม่ทำลายและสามารถทดสอบได้อย่างรวดเร็ว งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างผลจากการทดสอบด้วยคลื่นความถี่เรโซแนนท์และประสิทธิภาพของวัสดุพื้นทางที่ปรับปรุงด้วยซีเมนต์พอลิเมอร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการออกแบบวัสดุดังกล่าวในอนาคต ส่วนผสมที่ศึกษาในงานวิจัยชิ้นนี้ ประกอบด้วย หินคลุกผสมซีเมนต์ หินคลุกผสมซีเมนต์พอลิเมอร์สไตรีนอะคริลิค (SA) และ หินคลุกผสมซีเมนต์พอลิเมอร์สไตรีนบิวตาไดอีน (SBR) ปริมาณซีเมนต์และพอลิเมอร์ที่เหมาะสมจะได้รับการออกแบบตามมาตรฐานพื้นทางหินคลุกผสมซีเมนต์ของกรมทางหลวง บ่มตัวอย่างในภาชนะปิดเป็นเวลา 7, 14, 28 และ 60 วัน จากนั้นทำการทดสอบด้วยคลื่นความถี่เรโซแนนท์ ก่อนที่จะนำไปทดสอบเพื่อประเมินประสิทธิภาพ ได้แก่ การทดสอบกำลังรับแรงอัดแกนเดียว และการทดสอบกำลังรับแรงดึงทางอ้อม สุดท้ายนำผลการทดสอบทั้งหมดมาวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ระหว่างการทดสอบแบบด้วยคลื่นความถี่และประสิทธิภาพของวัสดุพื้นทางที่ปรับปรุงด้วยซีเมนต์พอลิเมอร์ พบว่าอัตราส่วนระหว่างเส้นผ่านศูนย์กลางต่อความยาวตัวอย่าง (D/L) ส่งผลกระทบต่อการวิเคราะห์ประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังพบว่าการปรับปรุงคุณภาพด้วยซีเมนต์พอลิเมอร์ชนิด SBR สามารถรับกำลังแรงดึงทางอ้อมได้ดีกว่าการปรับปรุงวัสดุด้วยซีเมนต์และซีเมนต์กับพอลิเมอร์ชนิด SA นอกจากนี้ ผลการทดสอบยังถูกนำไปใช้สร้างสมการทำนายกำลังรับแรงจากความเร็วคลื่นเฉือน ซึ่งสามารถใช้เป็นการทำนายคุณภาพวัสดุที่ได้รับผสมด้วยซีเมนต์พอลิเมอร์สำหรับงานโครงสร้างทางในอนาคตต่อไป
จำนวนการดาวน์โหลด
Copyright (c) 2022 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความทั้งหมดที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ครั้งที่ 27 นี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์