การศึกษาพฤติกรรมการเดินทางและความเป็นไปได้ของระบบ MaaS ในกรุงเทพมหานคร

  • ณัฐกานต์ สุรางค์ศรีรัฐ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • นันทวัฒน์ ศรัณย์ภัทร
  • สรวิศ นฤปิติ

บทคัดย่อ

  การบริการเดินทางรวมครบวงจร Mobility as a Service (MaaS)  เป็นการรวบรวมระบบขนส่งสาธารณะให้เชื่อมโยงอย่างสมบูรณ์แบบ ทำให้การเดินทางสะดวกสบายเป็นอย่างมาก หากนำระบบ MaaS มาปรับใช้ในประเทศไทยก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ประชาชนหันมาเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น รวมถึงลดจำนวนรถยนต์ส่วนตัวในท้องถนนอันเป็นสาเหตุหลักของการจราจรติดขัดในกรุงเทพฯ การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเดินทางจากผู้ที่ทราบหรือมีประสบการณ์ในการใช้บริการในการเดินทางที่หลากหลาย รวมถึงระบบแบ่งปันกันใช้ (Shared mobility) จึงทำให้เจาะจงสำรวจพฤติกรรมเดินทางกับกลุ่มนิสิตจุฬา ฯเป็นกรณีศึกษา และศึกษาความเป็นไปได้ของระบบ MaaS ในกรุงเทพมหานครจากการศึกษาเชิงคุณภาพและการพัฒนาแอปพลิเคชัน โดยข้อมูลด้านพฤติกรรมการเดินทางมาจากการสำรวจผ่านแบบสอบถามจำนวนทั้งสิ้น 681 ชุด จากกลุ่มตัวอย่างนิสิตจุฬา ฯ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยกระบวนการวิเคราะห์ตามลําดับชั้น (AHP) และการทำ Data Visualization สำหรับการศึกษาความเป็นไปได้ของระบบ MaaS ได้มาจากการสัมภาษณ์เชิงคุณภาพกับผู้ให้บริการทั้งสิ้น 4 ราย ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (MRTA), รถไฟฟ้าบีทีเอส, Muvmi และ Ha:mo ผลการวิจัยพบว่าผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ลำดับความสำคัญของปัจจัยในการเดินทางจากมากไปน้อยตามดังนี้ เวลาการเดินทาง, ความสะดวกสบาย, ความน่าเชื่อถือของข้อมูล, ความเข้าถึงของระบบขนส่ง, ความปลอดภัยและค่าโดยสาร ตามลำดับ และพบว่าผู้ให้บริการทั้ง 4 รายให้ความสนใจและให้ความร่วมมือหากมีการนำระบบ MaaS เข้ามาใช้ในไทย แต่มีประเด็นสำคัญที่ต้องพิจารณาคือ แนวทางในการแบ่งปันข้อมูลอย่างเป็นธรรม และการแบ่งค่าโดยสารให้แก่ผู้ให้บริการแต่ละราย ดังนั้นจึงสรุปปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดระบบ MaaS ทั้งสิ้น 6 ปัจจัย คือ ความร่วมมือ, ความตระหนักถึงส่วนรวม, การปรับเปลี่ยนตามลักษณะส่วนบุคคล, ประสบการณ์ของผู้ใช้บริการ, นวัตกรรม และการแบ่งปันข้อมูล การพัฒนาและทดสอบ MaaS แอปพลิเคชัน แสดงให้เห็นว่าผู้ทดลองใช้สามารถใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันเพื่อการเดินทางได้และระบุอยากใช้งานจริง

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2020-07-08
สาขาของบทความ
วิศวกรรมขนส่ง จราจรอัจฉริยะ และโลจิสติกส์

แนะนำบทความที่มีผู้เขียนคนเดียวกันกับบทความนี้