เทคโนโลยีการสแกนวัตถุ 3 มิติและวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์สำหรับป้อมก่ออิฐโบราณของไทย: กรณีศึกษาป้อมมหากาฬ
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้นำเสนอการจัดทำข้อมูลกลุ่มจุด 3 มิติร่วมกับวิธีไฟไนต์เอลิเมนต์สำหรับการอนุรักษ์ป้อมก่ออิฐโบราณของไทย โดยอาศัยป้อมมหากาฬเป็นกรณีศึกษา ข้อมูลดิจิทัลจำนวนมากของป้อมจะได้รับการจัดเก็บผ่านเครื่องสแกนวัตถุ 3 มิติแบบภาคพื้นดิน ข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดจะนำไปประมวลผลเป็นแบบจำลองกลุ่มจุดพิกัด 3 มิติของป้อม โดยงานวิจัยนี้จะนำเสนอขนาดมิติและค่าระดับในสภาวะปัจจุบันตามทิศทางหลักของป้อมมหากาฬ นอกจากนี้จะนำตัวอย่างวัสดุก่อโบราณในตำแหน่งต่างๆของป้อมมาทำการทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อทดสอบหาค่าความหนาแน่นและกำลังรับแรงอัดของวัสดุก่อ จากนั้นจะอาศัยข้อมูลกลุ่มจุดพิกัด 3 มิติมาพัฒนาเป็นแบบจำลองสมมุติฐานซึ่งจะนำไปใช้ในการวิเคราะห์โครงสร้างด้วยวิธีการไฟไนต์เอลิเมนต์ แผนภาพแสดงการกระจายความเค้นในตำแหน่งต่างๆจะจัดทำขึ้นเพื่อระบุบริเวณที่จะเกิดค่าความเค้นสูงสุดทั้งในด้านที่เป็นแรงอัดและในด้านที่เป็นแรงดึง ผลการประเมินการเสียรูปของป้อมอันเนื่องมาจากน้ำหนักบรรทุกคงที่และน้ำหนักบรรทุกจรจะนำมาเปรียบเทียบกับข้อมูลกลุ่มจุด 3 มิติในสภาพปัจจุบัน โดยผลการรวบรวมข้อมูลที่ได้จากงานวิจัยนี้สามารถใช้ประกอบการประเมินเสถียรภาพและติดตามสภาพโครงสร้างของป้อมมหากาฬได้ต่อไปในอนาคต
จำนวนการดาวน์โหลด
Copyright (c) 2020 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความทั้งหมดที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ครั้งที่ 25 นี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์