พฤติกรรมของทางรถไฟที่เสริมด้วยวัสดุสังเคราะห์เชิงประกอบภายใต้การใช้งานจริง
คำสำคัญ:
ทางรถไฟ, วัสดุสังเคราะห์, การเสริมกำลัง, การใช้งานจริง, ดัชนีการปนเปื้อน, ดัชนีความไม่สม่ำเสมอของทางบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมภายใต้การใช้งานจริงของทางรถไฟที่มีการติดตั้งวัสดุสังเคราะห์เชิงประกอบ (Geogrid และ Geotextile) โดยทำการศึกษาทางรถไฟสายตะวันออก กม.67+500 ถึง 68+000 ระหว่างสถานีดอนสีนนท์ และ สถานีแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา การศึกษาได้ทำการทดสอบต่างๆต่อทางรถไฟระหว่างการใช้งานจริง โดยประกอบด้วยการทดสอบในสนามคือ (i) การวัดการเคลื่อนตัวของสันราง และ (ii) การตรวจวัดคุณภาพทางด้วย TGM นอกจากนี้ยังทำการเก็บตัวอย่างหินโรยทางและนำมาทดสอบในห้องปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์การปนเปื้อนของหินโรยทาง ผลการศึกษาพบว่าการเสริมกำลังมีผลช่วยลดค่าเบี่ยงเบนมาตรฐานของการเปลี่ยนแปลงของค่าระดับสันรางลงได้เมื่อเทียบกับทางรถไฟที่ไม่มีการเสริมกำลัง นอกจากนี้การเสริมกำลังยังช่วยลดดัชนีความไม่สม่ำเสมอของทาง (P-index) ลงได้ แต่พบว่าการเสริมกำลังนี้ไม่ได้มีผลต่อการลดการแตกหักของหินโรยทางลง