ผลการประเมินความเสี่ยงขั้นต้นของอาคารที่อาจได้รับ ความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหวในภาคเหนือ

  • บดินทร์กรณ์ เรืองเดชอังกูร สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง
  • ธนิต ใจสอาด ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
  • ชานนท์ โตเบญจพร ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
คำสำคัญ: การประเมินความเสี่ยงขั้นต้น, อาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก, แผ่นดินไหว

บทคัดย่อ

กรมโยธาธิการและผังเมืองได้จัดทำคู่มือการประเมินความเสี่ยงขั้นต้นของอาคารที่อาจได้รับความเสียหายอย่างหนักจากแผ่นดินไหว และได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ของจังหวัดที่อยู่ในบริเวณแรงแผ่นดินไหวระดับสูงทำการประเมินความเสี่ยงขั้นต้นตามแนวทางการประเมินของคู่มือดังกล่าว โดยได้ทำการประเมินอาคารประเภทตามที่กำหนดในกฎกระทรวงฉบับที่ 49 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ที่ได้ก่อสร้างก่อนวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวบังคับใช้ ซึ่งจะไม่ได้มีการออกแบบโครงสร้างอาคารรองรับแรงแผ่นดินไหวไว้ โดยในการประเมินได้จำแนกชนิดของโครงสร้างอาคารตามที่ตรวจพบ และประเภทของชั้นดิน 2 ประเภท ได้แก่ ชั้นดินแข็งและชั้นดินปกติเนื่องจากไม่มีผลทดสอบดินในพื้นที่ ผลการประเมินอาคารจำนวน 175 หลังจาก 4 จังหวัดในภาคเหนือ ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก พบว่ามีอาคารที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายอย่างหนักเนื่องจากแผ่นดินไหวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 62 กรณีพิจารณาเป็นชั้นดินแข็ง และประมาณร้อยละ 86 กรณีพิจารณาเป็นชั้นดินปกติ โดยอาคารเหล่านี้ควรต้องมีการทำการประเมินโดยละเอียดเพื่อยืนยันสมรรถนะของอาคารในการต้านทานแรงแผ่นดินไหวอีกครั้ง เพื่อสามารถเตรียมพร้อมป้องกันและลดความเสียหายหากเกิดเหตุแผ่นดินไหวได้

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2023-06-07