การเปรียบเทียบลักษณะทางฟิสิกส์ระหว่างปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก และปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1

  • สุวัฒน์ รามจันทร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง
  • ธนิต ใจสอาด ศูนย์วิจัยและพัฒนาอาคาร สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย
คำสำคัญ: การซึมผ่านของคลอไรด์, กำลังอัด, ปูนซีเมนต์, ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก, มาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง

บทคัดย่อ

กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุใช้ในงานโครงสร้างอาคาร มยผ. 1101 - 52 ถึง มยผ. 1106 - 52 เป็นมาตรฐานกำหนดคุณลักษณะเฉพาะของวัสดุใช้ในงานโครงสร้างอาคาร มยผ. 1101 - 64 ถึง มยผ. 1106 - 64 ซึ่ง มยผ. 1101 - 64 มาตรฐานงานคอนกรีตและคอนกรีตเสริมเหล็ก ได้มีการเพิ่มเติมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกให้เป็นปูนซีเมนต์ที่ใช้ในงานก่อสร้างโครงสร้างได้ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองได้ร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (TCMA) สมาคมคอนกรีตแห่งประเทศไทย (TCA) และสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (SIIT) ศึกษาสมบัติที่สำคัญของปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกเปรียบเทียบกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ โดยทำการศึกษาลักษณะทางฟิสิกส์ ได้แก่ ค่าความข้นเหลวปกติ ระยะเวลาในการก่อตัว กำลังอัด และการซึมผ่านของคลอไรด์ ของปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกตาม มอก.2594-2556 จากผู้ผลิต 6 ราย เปรียบเทียบกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 โดยผลการทดสอบพบว่าซีเมนต์เพลสที่ทำจากปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีระยะเวลาก่อตัวต้นและระยะการก่อตัวปลายเร็วกว่าซีเมนต์เพลสที่ทำจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 และกำลังอัดที่อายุ 28 วัน ของคอนกรีตที่ทำจากปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีค่าสูงกว่าคอนกรีตที่ทำจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 นอกจากนี้การทดสอบการซึมผ่านของคลอไรด์ของคอนกรีตทั้ง 2 ชนิด พบว่าค่าความต้านทานต่อการซึมผ่านของคลอไรด์ได้ใกล้เคียงกัน โดยผลการทดสอบในครั้งนี้ได้นำมาใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงในการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง มยผ.1101-64 มาตรฐานงานคอนกรีตและคอนกรีตเสริมเหล็ก ซึ่งปัจจุบันกรมโยธาธิการและผังเมืองได้เผยแพร่มาตรฐานนี้ให้ทั้งหน่วยงานของกรมโยธาธิการและผังเมืองและหน่วยงานอื่นของรัฐในทุกจังหวัด เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการนำปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมาใช้ในงานก่อสร้างของตน เพื่อร่วมขับเคลื่อนมาตรการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยต่อไป

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2023-07-06

แนะนำบทความที่มีผู้เขียนคนเดียวกันกับบทความนี้