ผลกระทบของการวิเคราะห์ค่าความลำเอียงแบบเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ต่อความถูกต้องของน้ำฝนเรดาร์
คำสำคัญ:
การประมาณค่าระหว่างช่วงเชิงพื้นที่, ปริมาณน้ำฝนเรดาร์, การปรับแก้ความลำเอียงแบบกริด, สถานีเรดาร์สัตหีบบทคัดย่อ
แฟกเตอร์ปรับแก้ความลำเอียงมีความสำคัญมากต่อความถูกต้องในการประเมินน้ำฝนด้วยเรดาร์ กล่าวคือเป็นที่ยอมรับว่าแฟกเตอร์ดังกล่าวสามารถลดความคลาดเคลื่อนในการประเมินน้ำฝนเรดาร์จากการใช้ความสัมพันธ์ Z-R (ระหว่างค่าการสะท้อนกลับจากเรดาร์ (Z) และน้ำฝนจากเรดาร์ (R)) ได้ อย่างไรก็ตามเทคนิคการวิเคราะห์ค่าแฟกเตอร์ปรับแก้ความลำเอียงมีหลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับความซับซ้อนในการวิเคราะห์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการเลือกใช้เทคนิคการวิเคราะห์แฟกเตอร์การปรับแก้ที่เหมาะสม บทความนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาผลกระทบของการประยุกต์ใช้เทคนิคการวิเคราะห์แฟกเตอร์ความลำเอียงแบบเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่และเวลา ต่อความถูกต้องในการประเมินน้ำฝนเรดาร์เมื่อเทียบกับการใช้แฟกเตอร์ความลำเอียงแบบเฉลี่ยคงที่ทั้งพื้นที่ โดยได้เลือกใช้วิธีประมาณค่าระหว่างช่วงจำนวน 2 วิธีคือ Inverse Distance Weighted Interpolation (IDW) และ Ordinary Kriging Interpolation (OK) สำหรับใช้วิเคราะห์ค่าแฟกเตอร์ความลำเอียงแบบเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่แบบรายกริด ข้อมูลค่าการสะท้อนกลับจากเรดาร์ ณ สถานีเรดาร์สัตหีบ และข้อมูลน้ำฝนจากสถานีวัดน้ำฝนอัตโนมัติ จำนวน 297 สถานี ในปี พ.ศ. 2556 ได้ถูกนำมาใช้ในการศึกษา ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเมื่อประยุกต์ใช้เทคนิคความลำเอียงเชิงพื้นที่ร่วมกับความสัมพันธ์ Z-R นำไปสู่ความถูกต้องในการประเมินน้ำฝนที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการใช้ค่าเฉลี่ยเชิงพื้นที่แบบ MFB ดังนั้นจึงมีความเหมาะสมที่จะนำเทคนิคการปรับแก้ความลำเอียงแบบเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ไปปรับใช้ให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการเกิดฝนในพื้นที่ศึกษา เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในงานพัฒนาด้านแหล่งน้ำของประเทศต่อไป
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
บทความทั้งหมดที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ครั้งที่ 25 นี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์