การประเมินความต้องการใช้น้ำกลุ่มที่พักอาศัยในพื้นที่รับผิดชอบของการประปานครหลวงแบบรายพื้นที่
คำสำคัญ:
น้ำประปา, ความต้องการใช้น้ำ, ที่พักอาศัย, การประปานครหลวงบทคัดย่อ
ในการวางแผนการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคและการออกแบบระบบประปา ต้องมีการประเมินความต้องการใช้น้ำของผู้พักอาศัยในพื้นที่ ปัจจุบันการประปานครหลวงใช้ตัวเลขความต้องการใช้น้ำซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย 250 ลิตรต่อคนต่อวัน ในการวางแผนและออกแบบ ค่าดังกล่าวนี้มีความคลาดเคลื่อนจากพฤติกรรมการใช้น้ำจริงของประชากรซึ่งเป็นผลจากหลายปัจจัย อาทิเช่น ฐานะรายได้ ความเป็นอยู่ ลักษณะที่อยู่อาศัยและการใช้ที่ดิน เป็นต้น การศึกษานี้ประเมินความต้องการใช้น้ำของผู้ใช้น้ำกลุ่มที่พักอาศัย (M1) ในพื้นที่รับผิดชอบของการประปานครหลวง โดยวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณการใช้น้ำจากฐานข้อมูลผู้ใช้น้ำของการประปานครหลวงย้อนหลัง 7 ปี (ปี พ.ศ. 2555 - 2561) จำแนกเป็นรายเขต/อำเภอ พร้อมทั้งศึกษาความสัมพันธ์และองค์ประกอบระหว่างจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์ ลักษณะอสังหาริมทรัพย์ (แนวดิ่ง/แนวราบ) ในพื้นที่ และจำนวนประชากรแฝงในรูปแบบของแรงงานธุรกิจบริการจำนวน 62 พื้นที่ (กรุงเทพมหานคร 50 เขต จังหวัดสมุทรปราการ 6 อำเภอ และจังหวัดนนทบุรี 6 อำเภอ) ทั้งนี้ การศึกษานี้แบ่งพื้นที่อยู่อาศัยออกเป็น 6 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 พื้นที่เมืองเก่าที่ยังคงสภาพเดิม กลุ่มที่ 2 พื้นที่ธุรกิจการค้าและที่พักแนวดิ่ง กลุ่มที่ 3 พื้นที่พักอาศัยแนวราบขนาดเล็ก กลุ่มที่ 4 พื้นที่พักอาศัยแนวราบขนาดกลาง กลุ่มที่ 5 พื้นที่พักอาศัยแนวราบขนาดใหญ่ และกลุ่มที่ 6 พื้นที่อุตสาหกรรม ผลการศึกษาพบว่าอัตราการใช้น้ำเฉลี่ยของกลุ่มที่พักอาศัยในพื้นที่รับผิดชอบของการประปานครหลวงอยู่ในช่วง 125 – 263 ลิตรต่อคนต่อวัน โดยกลุ่มที่ 1 มีความต้องการใช้น้ำต่ำที่สุดเท่ากับ 125 ลิตรต่อคนต่อวัน กลุ่มที่ 5 มีความต้องการใช้น้ำสูงสุดเท่ากับ 263 ลิตรต่อคนต่อวัน นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มที่ 3 พื้นที่พักอาศัยแนวราบขนาดเล็กซึ่งครอบคลุมพื้นที่เขตคลองสามวา อำเภอบางใหญ่ และอำเภอบางบัวทอง มีอัตราการเจริญเติบโตของกลุ่มผู้ใช้น้ำมากที่สุด ซึ่งอาจส่งผลต่อความต้องการใช้น้ำในอนาคตในปริมาณมากเกินกว่าที่การประปานครหลวงเคยคาดการณ์ไว้ในอดีต ผลการวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้น้ำเชิงพื้นที่ย่อยซึ่งสอดคล้องกับรูปแบบการพัฒนาของเมืองในการศึกษานี้จะสนับสนุนให้การวางแผนการจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคมีความถูกต้องยิ่งขึ้น
Downloads
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
บทความทั้งหมดที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ครั้งที่ 25 นี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์