คุณสมบัติทางกลของส่วนผสมแอสฟัลติกโดยใช้เบกาไลต์ในผิวทางยืดหยุ่น

  • พนารัตน์ แสงปัญญา สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
  • พานิช วุฒิพฤกษ์ ภาควิชาครุศาสตร์โยธา คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
คำสำคัญ: เบกาไลต์, แอสฟัลติก, ผิวทาง, วัสดุทดแทน, ขยะอุตสาหกรรม

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณสมบัติทางกลของแอสฟัลติกคอนกรีต ตามมาตรฐาน ในงานผิวทาง เทียบกับ แอสฟัลติกคอนกรีตที่ทดแทนมวลรวมด้วยพลาสติกเบกาไลต์ด้วยอัตราส่วน 0, 50, 75, 90 และ 100 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก เตรียมตัวอย่างแอสฟัลติกคอนกรีต แล้วบ่มไว้ 14 วัน การทดสอบโดยวิธี Marshall ทล.-ท 604/2517 (ASTM D 1559) พบว่า เปอร์เซ็นต์ยางที่เหมาะสมของแอสฟัลติกคอนกรีตจากมวลรวมธรรมชาติ คือ 7.9% ความหนาแน่น 2.510 g./ml. และมีค่าเสถียรภาพ 2310 ปอนด์ ตัวอย่างที่ทดแทนมวลรวมด้วยเบกาไลต์ คือ AB50 AB75 AB 90 และ AB100 ต้องใช้ปริมาณยางมากขึ้นเมื่อการทดแทนมากขึ้นเป็น 8% 8.1% 8.4% 8.5% ตามลำดับ ความหนาแน่นลดลงเป็น 1.733 1.362 1.312 และ 1.304 g./ml. ตามลำดับ มีค่าเสถียรภาพลดลงเป็น 1738 1588 1480 และ 608 ปอนด์ ตามลำดับ ส่วนค่า ค่าการไหลที่เปอร์เซ็นต์ยางเหมาะสมมีค่าเพิ่มขึ้นเมื่อทดแทนมากขึ้น การศึกษาพบว่า AB50 ที่ใช้ปริมาณยาง CMS – 2h 8% ค่าเสถียรภาพ 1738 ปอนด์ มากว่า 1600 ปอนด์ สามารถใช้กับงานไหล่ทางและเหมาะกับงานซ่อมผิวทาง โดยมีค่าใช้จ่าย 1.27 บาท/กรัม น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ AB0 ที่มีค่าใช้จ่าย 1.35 บาท/กรัม อักทั้งยังมีปริมาตรใช้งานมากกว่า AB0 ถึง 1.48 เท่า ตอบโจทย์การจัดการขยะอย่างถูกวิธี และการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน

เผยแพร่แล้ว
2024-06-05