ความผันแปรของปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในประเทศไทย
คำสำคัญ:
เขื่อนขนาดใหญ่, วิธี Mann-Kendall (MK), การวิเคราะห์แนวโน้ม, การบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำบทคัดย่อ
ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเป็นข้อมูลสำคัญในการบริหารจัดการน้ำทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความผันแปรของปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ในประเทศไทย ทั้ง 35 แห่ง ในการศึกษาได้ใช้ข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำที่บันทึกไว้โดยกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และวิเคราะห์ข้อมูลปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรายปีทั้งปี ฤดูฝนรายปี และฤดูแล้งรายปี ด้วยวิธีทางสถิติทั่วไปและวิธี Mann-Kendall (MK) ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างรายปีทั้งปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 5 แห่ง มีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 2 แห่ง ในขณะที่ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างในฤดูฝนรายปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 5 แห่ง ส่วนปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างในฤดูแล้งรายปีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 6 แห่ง และมีแนวโน้มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จำนวน 4 แห่ง ผลจากการศึกษานี้เป็นข้อมูลสำคัญการการบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำอย่างยั่งยืนทั้ง 35 แห่ง และเฝ้าระวังปัญหาในการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งของอ่างเก็บน้ำทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำภูมิพล ขุนด่านปราการชล น้ำอูน และแม่งัดสมบูรณ์ชล