การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางจากการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำสำคัญ:
การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทาง, การใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกัน, Micromobility, การเดินทางในเมืองบทคัดย่อ
ปัจจุบันการใช้ Micromobility ซึ่งหมายถึง อุปกรณ์ขนาดเล็ก น้ำหนักเบา เดินทางด้วยความเร็วต่ำไม่เกิน 25 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและเหมาะกับการเดินทางไม่เกิน 10 กิโลเมตร สามารถใช้ร่วมกันหรือเป็นเจ้าของได้ เช่น จักรยานไฟฟ้า สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ได้รับความสนใจอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ซึ่งการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกัน มีปริมาณการใช้ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายเมืองทั่วโลก เนื่องจากสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า เป็นโหมดการขนส่งที่ค่อนข้างใหม่ เหมาะกับการเดินทางระยะสั้นและได้รับการส่งเสริมให้เป็นทางเลือกที่เข้าถึงได้ บทความนี้จึงได้ศึกษาถึงบทบาทของสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางในบริเวณจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาคือ ผู้ที่เคยใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ใช้วิธีการเก็บข้อมูลแบบสอบถามร่วมกับการสัมภาษณ์ และสุ่มตัวอย่างแบบสุ่มอย่างง่าย ผลการศึกษาพบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบพฤติกรรมการเดินทางจากการเดินหรือปั่นจักรยานเป็นการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าร่วมกัน และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางยังมีความสัมพันธ์กับเพศ ระดับการศึกษาและรายรับต่อเดือน ผลที่ได้จากการวิจัยทำให้ทราบว่ารูปแบบการเดินทางของผู้ใช้เปลี่ยนไปอย่างไร ซึ่งสามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาสำหรับการวางแผนหรือกำหนดนโยบายในการควบคุมดูแลหรือส่งเสริมรูปแบบการเดินทางดังกล่าว เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของระบบการขนส่งโดยรวมต่อไป