ผลกระทบการก่อสร้างเขื่อนต่อน้ำเค็มและทรัพยากรน้ำในลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง
คำสำคัญ:
ผลกระทบของการสร้างเขื่อน, การจัดการทรัพยากรน้ำ, ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง, โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก, แบบจำลอง MIKE11บทคัดย่อ
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกเป็นปัจจัยหลักในการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลส่งผลทำให้หลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยได้รับผลกระทบเนื่องจากปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็มสูงขึ้นไปบริเวณปากแม่น้ำ ได้สร้างปัญหาอย่างมากต่อการบริหารจัดการน้ำอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และน้ำอุปโภค-บริโภค สำหรับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้เพื่อศึกษาพฤติกรรมทางชลศาสตร์และประเมินผลกระทบของการรุกตัวของน้ำเค็มในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่างเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อนโดยใช้แบบจำลอง MIKE11 ซึ่งจากผลการศึกษาพบว่าแบบจำลองทางชลศาสตร์มีค่าสัมประสิทธิ์ความขรุขระของท้องน้ำ n = 0.025-0.030, R2 = 0.90-0.99, IA = 0.71-0.98, RMSE = 0.12-0.28 กับแบบจำลองการพัดพาและแพร่กระจายมีค่าสัมประสิทธิ์การแพร่กระจาย Df = 100-1,400 m2/s, R2 = 0.80-0.99 IA = 0.54-0.98, RMSE = 0.16-0.31 เมื่อประยุกต์ใช้ศึกษาผลกระทบของการสร้างเขื่อนและการผันน้ำไปโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกภายใต้สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ พบว่าน้ำเค็มรุกเข้าไปในบริเวณปากแม่น้ำเป็นระยะทางเพิ่มมากขึ้นกว่าในปัจจุบันและอาจจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเกษตรกรรมกับความหลากหลายทางชีวภาพในอนาคต ซึ่งผลจากการวิจัยได้นำไปประยุกต์ใช้เพื่อประเมินพื้นที่ความเสี่ยงน้ำเค็มเพื่อใช้เป็นแนวทางกับวางแผนการปรับตัวสำหรับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่างได้