การเปรียบเทียบประสิทธิภาพการพยากรณ์ฝนเรดาร์ระยะสั้นระหว่างเทคนิค S-PROG และ LINDA
คำสำคัญ:
ฝนเรดาร์, การพยากรณ์ฝนเรดาร์ระยะสั้น, เรดาร์สัตหีบ, เทคนิค S-PROG, เทคนิค LINDAบทคัดย่อ
เทคโนโลยีเรดาร์ได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพในการพยากรณ์ฝนระยะสั้นและสามารถเพิ่มความถูกต้องของระบบการเตือนภัยล่วงหน้าได้ อย่างไรก็ตาม การเลือกใช้เทคนิคการพยากรณ์ฝนระยะสั้นยังต้องการการพิสูจน์ให้มีความเหมาะสมกับพฤติกรรมของการเกิดฝนและสภาพภูมิประเทศของพื้นที่ที่พิจารณา การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการพยากรณ์ฝนเรดาร์ระยะสั้นระหว่างการใช้เทคนิค S-PROG และ LINDA ที่เหมาะสมต่อพฤติกรรมฝนในพื้นที่รัศมีของเรดาร์สัตหีบ ทั้งนี้ได้คัดเลือกข้อมูลการสะท้อนกลับจากสถานีเรดาร์สัตหีบ ราย 6 นาที สำหรับการพยากรณ์ฝนล่วงหน้าตั้งแต่ 6, 12, …, 120 นาที ภายใต้เหตุการณ์ฝนตกหนักจำนวน 14 เหตุการณ์ในปี พ.ศ.2564 ผลการศึกษาพบว่า เทคนิค S-PROG พยากรณ์กลุ่มฝนในรูปแบบพื้นที่ขนาดใหญ่ โดยไม่สามารถจำลองกลุ่มฝนขนาดเล็กได้ ในขณะที่เทคนิค LINDA สามารถพยากรณ์รูปแบบการเปลี่ยนแปลงของฝนได้หลากหลายทั้งการรวมตัว การสลายตัว และสามารถจับตำแหน่งศูนย์กลางพายุของกลุ่มฝนได้ค่อนข้างดี เมื่อพิจารณาดัชนีประเมินความแม่นยำของการพยากรณ์จำนวน 2 ดัชนี ได้แก่ Critical Success Index (CSI) และ Correlation พบว่าเทคนิค LINDA ให้ความแม่นยำเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณได้ดีกว่า S-PROG โดยค่าดัชนี CSI ของเทคนิค S-PROG และ LINDA จะอยู่ในช่วง 0.87 – 0.45 และ 0.81 – 0.42 และค่าดัชนี Correlation ของเทคนิค S-PROG และ LINDA จะอยู่ในช่วง 0.85 – 0.15 และ 0.89 – 0.18 ตามลำดับ