ข้อคำนึงในการก่อสร้างลาดคันดินในการป้องกันน้ำท่วมแบบมีและแบบไม่มีแผ่นใยสังเคราะห์
คำสำคัญ:
การป้องกันน้ำท่วม, กำแพงกันดิน, การตรวจสอบความปลอดภัยงานดิน, แผ่นใยสังเคราะห์, ข้อคำนึงในการก่อสร้างบทคัดย่อ
ในปี 2564 โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่อำเภอด่านช้าง เกิดน้ำท่วมฉับพลัน จากพายุฝนที่ตกหนัก ได้รับผลกระทบคือเซลล์รับพลังงานแสงอาทิตย์เสียหาย และไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้แม้ว่าจะมีกำแพงดินกันน้ำท่วมในระดับหนึ่งก็ตาม น้ำก็ยังสามารถทะลักเข้าพื้นที่ได้ ดังนั้นในปี 2565 จึงมีการออกแบบและก่อสร้างกำแพงกันดินที่ป้องกันน้ำท่วมให้สูงขึ้นและมีความแข็งแรงมากขึ้น แต่ด้วยสภาพเนินดินเดิมที่มีความสูงมากอยู่แล้ว และเป็นการก่อสร้างใกล้กับขอบเขตที่ดิน จึงต้องใช้ความชันของลาดดินที่มีค่าสูงถึง 2.5:1 อีกทั้งยังต้องป้องกันการเลื่อนไถลของดินถมใหม่ จึงมีการเลือกใช้แผ่นใยสังเคราะห์ในการป้องกันดินเลื่อนไถล และการป้องกันน้ำท่วม บทความนี้มีวัตถุประสงค์ในการเผยแพร่ความรู้ด้านการก่อสร้างลาดคันดินแบบมีและแบบไม่มีแผ่นใยสังเคราะห์ในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมสูง เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงในการออกแบบ การก่อสร้าง และการควบคุมงานด้านวิศวกรรม โดยมีการวิเคราะห์ตรวจสอบสภาพดินถมทั้งในระดับห้องปฏิบัติการ และระดับภาคสนาม อีกทั้งยังมีการเสริมความแข็งแรงของลาดดินโดยใช้แผ่นใยสังเคราะห์ และการเลือกใช้กำแพงกันดินคอนกรีตเพื่อช่วยในการป้องกันดินไถลในพื้นที่ใกล้เขตที่ดิน การศึกษาพบว่าในการก่อสร้างกำแพงกันดินป้องกันน้ำท่วมจำเป็นต้องมีการทดสอบตามมาตรฐานหลายขั้นตอนในขณะก่อสร้าง ได้แก่ การทดสอบกำลังรับแรงเฉือนของดินและการหาค่ามุมของความเสียดทานของดิน การทดสอบเสถียรภาพต่อการเลื่อนไถล และการทดสอบการบดอัดดิน การทดสอบการซึมผ่านของน้ำในดิน การตรวจวัดระดับและความลาดของดินถมเป็นข้อที่ควรคำนึงถึง เพื่อให้การก่อสร้างกำแพงกันดินและการป้องกันน้ำท่วมหลังจากการก่อสร้างแล้วเสร็จให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยตามวัตถุประสงค์