พฤติกรรมการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าในช่วงเดือนแรกของการเปิดให้บริการ: กรณีศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • อุษณีย์ ระหา ภาควิชาวิศวกรรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำสำคัญ: สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่า, ยานพาหนะเดินทางขนาดเล็ก, พฤติกรรมการเดินทาง, การวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติก

บทคัดย่อ

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานจัดการทรัพย์สินแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่งเสริมการเดินทางที่ยั่งยืนปราศจากมลพิษ ภายใต้โครงการสามย่านสมาร์ทซิตี้ โดยให้บริการสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่า ในบริเวณพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยามสแควร์ สวนหลวง และสามย่าน ซึ่งเป็นรูปแบบการเดินทางใหม่ ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2565 งานวิจัยนี้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพฤติกรรมของผู้ขับขี่ และความปลอดภัยในการเดินทางด้วยสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่า จึงได้ทำการศึกษาพฤติกรรมการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าในช่วงเดือนแรกของการเปิดให้บริการ และพัฒนาแบบจำลองปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าในอนาคต ด้วยการวิเคราะห์ความถดถอยโลจิสติก โดยสำรวจข้อมูลจากแบบสอบถามออนไลน์ และได้รับการตอบกลับจากผู้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าทั้งสิ้น จำนวน 332 คน ผลการวิเคราะห์ทางสถิติ พบว่า กลุ่มผู้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าร้อยละ 70 เป็นผู้มีประสบการณ์ในการใช้มาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง ช่วงเวลาที่ผู้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าใช้มากที่สุดอยู่ระหว่างเวลา 16.00 – 18.00 น.คิดเป็นร้อยละ 21.5 และกลุ่มผู้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่ามากกว่าร้อยละ 97 นิยมขี่สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าบนถนน นอกจากนี้พบว่า ร้อยละ 14.57 ของผู้ใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าเคยประสบอุบัติเหตุจากการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่า ผลจากแบบจำลองพบว่าปัจจัยที่อิทธิพลต่อการตัดสินใจเลือกใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่า ได้แก่ เพศ และวัตถุประสงค์การเดินทาง ผลการศึกษานี้สามารถเป็นแนวทางในการปรับปรุงการให้บริการ และการออกกฎระเบียบด้านความปลอดภัยในการใช้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่าต่อไป

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2023-07-08