การปรับปรุงคุณสมบัติแอสฟัลต์คอนกรีตรีไซเคิลด้วยวัสดุมวลรวมขนาดใหญ่
คำสำคัญ:
แอสฟัลต์คอนกรีตรีไซเคิล, วัสดุมวลรวมหินปูน, แอสฟัลต์ซีเมนต์, การออกแบบด้วยวิธีมาร์แชลล์, เสถียรภาพและการไหลบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้ศึกษาคุณสมบัติของแอสฟัลต์ซีเมนต์รีไซเคิลจากผิวทางเก่า (RAP) จากหลวงหมายเลข 12 บริเวณตอนควบคุมที่ 0201 แม่ละเมา - ตาก ระหว่าง กม.74+000 ถึง กม.76+607 ปรับปรุงคุณสมบัติด้วยการผสมวัสดุมวลรวมหินปูนขนาด 1 นิ้ว (25 มม.) ซึ่งถือว่าเป็นขนาดโตสุดของวัสดุมวลรวมในการออกแบบผิวทาง และใช้วัสดุประสานแอสฟัลต์ซีเมนต์เกรด AC60/70 ทำการทดสอบหาคุณสมบัติปริมาณแอสฟัลต์ซีเมนต์ที่เหลืออยู่ในวัสดุแอสฟัลต์คอนกรีตรีไซเคิลและหาปริมาณของแอสฟัลต์ซีเมนต์ที่เหมาะสมในอัตราส่วนผสม ซึ่งจากการทดสอบพบว่าปริมาณแอสฟัลต์ซีเมนต์ที่เหมาะสมที่ใช้ในการออกแบบอัตราส่วนผสมอยู่ที่ร้อยละ 0.8 จากนั้นออกแบบอัตราส่วนผสมตามมาตรฐานการออกแบบแอสฟัลต์คอนกรีตผสมร้อนด้วยวิธีมาแชลล์ตามมาตรฐานกรมทางหลวงที่ ทล.-ม. 408/2532 โดยการผสมวัสดุมวลรวมหินปูนขนาด 1 นิ้ว ที่อัตราส่วนผสมร้อยละ 4, 6, 8 และ 10 ผลการทดสอบประสิทธิภาพด้วยการทดสอบหาค่าเสถียรภาพและการไหลพบว่าวัสดุมวลรวมให้ค่าเสถียรภาพที่มากขึ้นเมื่ออัตราส่วนผสมของวัสดุมวลรวมลดลง และอัตราการไหลลดลงเมื่ออัตราส่วนผสมของวัสดุมวลรวมเพิ่มขึ้น ซึ่งผลการทดสอบดังกล่าวเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่ยอมรับได้ของกรมทางหลวง การนำวัสดุแอสฟัลต์คอนกรีตรีไซเคิลจากผิวทางเก่ามาปรับปรุงคุณสมบัติเพื่อนำกลับมาใช้งานใหม่ด้วยการออกแบบอัตราส่วนผสมวัสดุมวลรวมใหญ่ขนาด 1 นิ้ว (25 มม.) ไม่เพียงแต่จะช่วยลดปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติที่กำลังเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อวงการอุตสาหกรรมงานก่อสร้างเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนที่เกิดจากขั้นตอนการผลิตวัสดุสำหรับงานก่อสร้างจากเหมืองหินหรือโรงโม่หินได้อีกด้วย ตอบสนองต่อนโยบายระดับท้องถิ่นและนโยบายประเทศ และสอดคล้องกับ BCG Economy Model ในด้านการใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นการเน้นการใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบต่างๆ ตลอดวัฏจักรชีวิต และการนำวัสดุเหลือทิ้งเดิมมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงทางอุตสาหกรรม