การศึกษากระบวนการพัฒนา และแนวทางการบริหารจัดการระบบประปาน้ำบาดาลที่เหมาะสมกับพื้นที่ ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม

  • วิชญ์ธาร หนูนุ่ม ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  • ณัฐ มาแจ้ง
คำสำคัญ: ระบบประปาน้ำบาดาล, น้ำบาดาล, ระบบกระจายน้ำ

บทคัดย่อ

พื้นที่ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นพื้นที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำ ไม่สามารถเก็บกักน้ำผิวดินไว้ให้เพียงพอต่อความต้องการอุปโภค-บริโภค ดังนั้นน้ำบาดาลจึงสามารถเข้ามาแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำดังกล่าวได้ ในการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบรูปแบบโครงการระบบประปาน้ำบาดาล ของกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่เหมาะสมในพื้นที่ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม และออกแบบระบบประปาน้ำบาดาลให้มีแรงดันที่ได้มาตรฐานอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ EPANET เพื่อเปรียบเทียบรูปแบบโครงการระบบประปาน้ำบาดาล คือ โครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภค-บริโภคขนาดเล็ก โดยมีส่วนประกอบหลัก คือ บ่อน้ำบาดาล หอถังสูงขนาดความจุ 80 ลูกบาศก์เมตร และท่อกระจายน้ำ โดยรูปแบบโครงการจะกระจายไปตามการตั้งฐานที่อยู่อาศัยหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีความต้องการใช้น้ำแต่ละพื้นที่ในตำบล เทียบกับโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภค-บริโภค ขนาดใหญ่ ซึ่งมีส่วนประกอบหลักคือบ่อน้ำบาดาล หอถังสูงขนาดความจุ 300 ลูกบาศก์เมตร ร่วมกับถังเหล็กเก็บน้ำขนาดความจุ 2,000 ลูกบาศก์เมตร และท่อกระจายน้ำ โดยรูปแบบโครงการ จะมีที่ตั้ง ณ จุดที่มีความเหมาะสมเพียงจุดเดียว และกระจายน้ำให้ทั่วถึงทุกพื้นที่ในตำบล จากผลการศึกษาพบว่าโครงการพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการอุปโภค-บริโภค ขนาดใหญ่ เพียงจุดเดียวสามารถกระจายน้ำได้ทั่วถึงทุกพื้นที่ในตำบลโดยมีความคุ้มค่าในการดำเนินการมากกว่าโครงการขนาดเล็ก คำนวณจากราคาการเจาะบ่อน้ำบาดาล มูลค่าการก่อสร้างโครงการ การออกแบบระบบกระจายน้ำ และอัตราค่าการใช้จ่ายในการบำรุงรักษาโครงการตลอดอายุการใช้งาน อย่างไรก็ตามความคุ้มค่าดังกล่าวเป็นเพียงผลการเปรียบเทียบในพื้นที่ตำบลลาดใหญ่เท่านั้น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพพื้นที่และความต้องการน้ำอุปโภค-บริโภคของประชากรที่แตกต่างกัน

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2023-07-09