การคัดเลือกระบบขนส่งมวลชนขนาดรองในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต โดยวิธีการวิเคราะห์ทฤษฎีอรรถประโยชน์พหุลักษณ์ และวิธีการจัดลำดับชนิดเข้าศูนย์กลาง: กรณีศึกษา เส้นทางเมืองภูเก็ตถึงหาดป่าตอง
คำสำคัญ:
ทฤษฎีอรรถประโยขน์พหุลักษณ์, การจัดลำดับเข้าหาศูนย์กลาง, ระบบขนส่งมวลชนขนาดรองบทคัดย่อ
การคัดเลือกระบบขนส่งมวลชนขนาดรองในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตโดยวิธีการวิเคราะห์ทฤษฎีอรรถประโยชน์พหุลักษณ์ (Multi Attribute Utility Theory, MAUT) และวิธีการจัดลำดับชนิดเข้าศูนย์กลาง (Rank Order Centroid, ROC) กรณีศึกษา เส้นทาง เมืองภูเก็ต ถึง หาดป่าตอง มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกระบบขนส่งมวลชนขนาดรองที่เหมาะสมกับเส้นทางดังกล่าว โดยกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามซึ่งมีการจำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1. ผู้ออกแบบและกำหนดโครงการ 2. ภาคสังคม 3. ผู้ให้บริการ และ 4. ผู้ใช้บริการ ให้คะแนนตัวแปรการตัดสินใจในแต่ละทางเลือก และจัดลำดับความสำคัญของตัวแปรการตัดสินใจตามเกณฑ์ จากนั้นวิเคราะห์คะแนนตัวแปรด้วยวิธี MAUT และวิเคราะห์น้ำหนักตัวแปรตามการจัดลำดับด้วยวิธี ROC ผลการวิเคราะห์พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามแต่ละกลุ่มได้คัดเลือกระบบขนส่งมวลชนขนาดรองที่เหมาะสมที่สุด และจัดอันดับตัวแปรการตัดสินใจที่สำคัญที่สุด ตามลำดับดังนี้ 1.ผู้ออกแบบและกำหนดโครงการเลือก Tram และความยากในการก่อสร้าง 2.ภาคสังคมเลือก Bus Rapid Transit (BRT) และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 3.ผู้ให้บริการเลือก Electric Vehicle Bus (EV Bus) และต้นทุนโครงการ และ 4.ผู้ใช้บริการ คัดเลือกระบบ Automated Rapid Transit (ART) และการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน เป็นหลัก จากการกำหนดให้ผู้ตอบแบบสอบถามทุกกลุ่มมีความสำคัญเท่ากัน ผลวิเคราะห์การคัดเลือกระบบขนส่งมวลชนขนาดรองที่เหมาะสมในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตสำหรับทุกกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามประกอบด้วย (1) ART (2) BRT (3) Tram และ (4) EV Bus ตามลำดับ