การศึกษาค้นคว้าอิสระ เรื่องระดับความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ โดยการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS)
คำสำคัญ:
อุทกภัย, ภาคใต้, พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย, กระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์, แบบจำลองระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์บทคัดย่อ
การศึกษานี้ได้ประยุกต์ใช้แบบจำลองระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ร่วมกับกระบวนการลำดับชั้นเชิงวิเคราะห์ (Analytical Hierarchy Process, AHP) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมีปัจจัยที่ใช้ในการวิเคราะห์ทั้งหมด 7 ปัจจัย ได้แก่ ข้อมูลปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง ระยะห่างจากแม่น้ำสายหลัก กลุ่มชุดดิน สิ่งกีดขวางทางน้ำ ความสูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ความลาดชันของพื้นที่ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน มาทำการซ้อนทับข้อมูล (Overlay) ร่วมกับค่าน้ำหนักของแต่ละปัจจัยซึ่งประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญมาทำการวิเคราะห์ และจำแนกพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่ พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยต่ำที่สุด พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยต่ำ พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยปานกลาง พื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยสูง และพื้นที่เสี่ยงเกิดอุทกภัยสูงที่สุด จากการศึกษาพบว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการเกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้มากที่สุดคือ ข้อมูลปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง และจากการประเมินความเสี่ยง พบว่าระดับความเสี่ยงเกิดอุทกภัยสูงที่สุด คิดเป็นร้อยละ 9.64 ของพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำสายหลัก พื้นที่ลุ่มต่ำ และบริเวณริมชายฝั่ง ดังนั้น เพื่อลดผลกระทบจากอุทกภัยที่จะเกิดขึ้น ควรมีการบูรณาการมาตรการต่าง ๆ เข้าด้วยกัน ทั้งมาตรการที่ใช้โครงสร้าง และมาตรการที่ไม่ใช้โครงสร้าง