การศึกษาจุดอันตรายด้วยข้อมูลอุบัติเหตุจากสถานีตำรวจ กรณีศึกษาถนนประชาอุทิศ ช่วงระหว่างซอยประชาอุทิศ 56 - ซอยประชาอุทิศ 98

  • วันชนก เชื้อทอง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • วศิน เกียรติโกมล
  • ตรีรัตน์ อานุรักขวาปี
  • สุจิตรา คิดค้า
  • ธนพงษ์ สุขสอน
คำสำคัญ: จุดเสี่ยงอันตราย, แผนผังการชน, ระบบสารสนเทศข้อมูลอาชญากรรม, ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์อุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูลคดีจราจรของสถานีตำรวจ รวมทั้งศึกษาปัญหาของข้อมูลอุบัติเหตุ โดยใช้ข้อมูลอุบัติเหตุบนถนนประชาอุทิศช่วงซอยประชาอุทิศ 56 ถึงซอยประชาอุทิศ 98 เนื่องจากถนนบริเวณดังกล่าวมักเกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง แม้จะเป็นเพียงช่วงถนนสั้น ๆ โดยใช้ข้อมูลคดีอุบัติเหตุจราจรจากสถานีตำรวจนครบาลทุ่งครุในช่วงตั้งแต่ปี 2563 ถึง 2565 การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีสถิติเชิงพรรณนา พบว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมดมีจำนวน 1105 คดี มีผู้เสียชีวิตจากการเกิดอุบัติเหตุ 13 คน และมีจำนวนผู้บาดเจ็บ 999 คน ส่วนใหญ่จะเป็นการเฉี่ยวชนและชนท้ายบริเวณทางแยก โดยช่วงเวลาที่พบการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งมากที่สุดคือช่วงเวลากลางวันระหว่าง 06:01 น.-12:00น. และ 12:01น.-6:00น. และพบว่าจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดเป็นสัดส่วน 49.7% นอกจากนี้ได้นำข้อมูลไปวิเคราะห์เพื่อระบุตำแหน่งของอุบัติเหตุด้วยเครื่องมือสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ที่สามารถช่วยบอกตำแหน่งของจุดอันตรายที่เกิดซ้ำซ้อน จากข้อมูลคดีจราจร พบว่า อุบัติเหตุส่วนใหญ่จะเกิดบริเวณทางแยกบนช่วงถนนที่ศึกษา ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดบริเวณทางแยกซอยประชาอุทิศ 90 และส่วนใหญ่มีสาเหตุจากความประมาทของผู้ขับขี่เป็นสัดส่วน 97.5% ในส่วนของการศึกษาปัญหาของข้อมูลอุบัติเหตุ พบว่า ประมาณ 11% ของข้อมูลคดีจราจรที่ใช้ในการศึกษาไม่สามารถระบุพิกัดของสถานที่เกิดอุบัติเหตุได้ และประมาณ 9.5% ของข้อมูลไม่สามารถระบุรายละเอียดทิศทางของยานพาหนะขณะเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญในการวิเคราะห์อุบัติเหตุเชิงลึกเพื่อทราบถึงปัจจัยแวดล้อมของการเกิดอุบัติเหตุและแนวทางการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2023-07-08

แนะนำบทความที่มีผู้เขียนคนเดียวกันกับบทความนี้