ผลของการปรับสภาพกกอียิปต์ด้วยกระบวนการแบบสองขั้นตอน ระหว่างไฮโดรเทอร์มอลและการปรับสภาพทางเคมีด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์
คำสำคัญ:
กกอียิปต์, การปรับสภาพสองขั้นตอน, ไฮโดรเทอร์มอล, โซเดียมไฮดรอกไซด์บทคัดย่อ
กกอียิปต์เป็นพืชลิกโนเซลลูโลสที่มีเส้นใยเซลลูโลสสูง อัตราผลผลิตสูงและเจริญเติบโตได้ง่าย เหมาะสมในการผลิตเป็นเซลลูโลสไฟเบอร์ เพื่อดูดซับมลสารที่ปนเปื้อนในน้ำเสีย จึงจำเป็นต้องมีการปรับสภาพที่เหมาะสม โดยงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำการศึกษาองค์ประกอบทางเคมีและลักษณะทางสัณฐานวิทยาของกกอียิปต์ก่อนและหลังการปรับสภาพแบบสองขั้นตอน โดยทำการปรับสภาพในขั้นตอนแรกด้วยกระบวนการไฮโดรเทอร์มอลที่อุณหภูมิ 220 องศาเซลเซียส ระยะเวลา 15 นาที และการปรับสภาพด้วยสารละลายโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ความเข้มข้นร้อยละ 5 ที่อุณหภูมิ 120 องศาเซลเซียส โดยทำการแปรเปลี่ยนระยะเวลาการปรับสภาพที่ 30 45 และ 60 นาที จากผลการศึกษาพบว่ากกอียิปต์ก่อนการปรับสภาพมีปริมาณเซลลูโลส เฮมิเซลลูโลส ลิกนิน เท่ากับ ร้อยละ 48.88 11.1 และ 7.69 ตามลำดับ เมื่อทำการปรับสภาพแล้วทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางสัณฐานวิทยาโดยมีลักษณะมีพื้นผิวแตกหัก ไม่ยึดเกาะกัน แสดงให้เห็นถึงโครงสร้างของลิกนินที่เป็นตัวยึดเกาะเซลลูโลสถูกทำลาย องค์ประกอบทางเคมีหลังการปรับสภาพมีปริมาณเซลลูโลสเพิ่มขึ้นมากที่สุดที่การปรับสภาพด้วยระยะเวลา 60 นาที ให้ปริมาณเซลลูโลสดีที่สุด เท่ากับ ร้อยละ 89.23 และสามารถกำจัดปริมาณเฮมิเซลลูโลสและลิกนินได้มากที่สุด