การประเมินพื้นที่น้ำท่วมในจังหวัดอุบลราชธานีด้วยแบบจำลอง MIKE FLOOD
บทคัดย่อ
จังหวัดอุบลราชธานีประสบภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ใน พ.ศ. 2481 พ.ศ. 2521 พ.ศ. 2545 และล่าสุดในเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ซึ่งมีความรุนแรงของการเกิดน้ำท่วมสูงกว่า พ.ศ. 2545 ระดับแม่น้ำมูลล้นตลิ่งอยู่ที่ 115.88 เมตร รทก. (พ.ศ. 2562) จากระดับ 115.77 เมตร รทก. (พ.ศ. 2545) การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินพื้นที่น้ำท่วมจากปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำท่า ณ คาบการเกิดซ้ำ 10 ปี 20 ปี 50 ปี และ 100 ปี ด้วยแบบจำลอง MIKE FLOOD ผลการศึกษา พบว่า พื้นที่น้ำท่วมจากปริมาณน้ำท่าเท่ากับ 487.59 696.55 837.63 และ 944.57 ตารางกิโลเมตร ณ คาบการเกิดซ้ำ 10 ปี 20 ปี 50 และ 100 ปี ตามลำดับ มีพื้นที่น้ำท่วมตั้งแต่บริเวณท้ายเขื่อนราษีไศลจนถึงเขื่อนปากมูล รวมถึงแม่น้ำชี และลำน้ำสาขาที่ไหลเข้าแม่น้ำมูล โดยน้ำท่วมหนักบริเวณอำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ และ อำเภอเขื่องใน อำเภอเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี สำหรับพื้นที่น้ำท่วมจากปริมาณน้ำฝนเท่ากับ 206.03 214.54 228.31 และ 259.76 ตารางกิโลเมตร ณ คาบการเกิดซ้ำ 10 ปี 20 ปี 50 และ 100 ปี ตามลำดับ น้ำท่าจากฝนที่ตกในพื้นที่ศึกษามิใช่สาเหตุหลักในการเกิดน้ำท่วมในพื้นที่ศึกษา เพราะพื้นที่น้ำท่วมเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในแต่ละคาบการเกิดซ้ำ ทั้งนี้ น้ำท่าทางต้นน้ำที่เกิดจากฝนในพื้นที่ต้นน้ำนอกพื้นที่ศึกษา (จ.อุบลฯ) มีปริมาณน้ำมากกว่าน้ำท่าจากฝนที่ตกในลุ่มน้ำภายในจังหวัดอยู่มาก จึงส่งผลให้พื้นที่น้ำท่วมในกรณีแรกเกิดพื้นที่น้ำท่วมมากกว่า จึงกล่าวได้ว่าปริมาณน้ำท่าจากพื้นที่เหนือน้ำเป็นสาเหตุสำคัญในการเกิดน้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดอุบลราชธานี
จำนวนการดาวน์โหลด
Copyright (c) 2022 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
บทความทั้งหมดที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ครั้งที่ 27 นี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์