การประเมินประสิทธิภาพของป้ายแจ้งเตือนความเร็วแบบพลังงานแสงอาทิตย์บนทางพิเศษบูรพาวิถี

  • จิรวัฒน์ เพลิงศรีทอง กองวิจัยและพัฒนา การทางพิเศษแห่งประเทศไทย
  • ศิวัช ปัญญาชัยวัฒนากูล
  • พรณรงค์ เลื่อนเพชร
  • เทพฤทธิ์ รัตนปัญญากร
คำสำคัญ: อุบัติเหตุ, พฤติกรรมการใช้ความเร็ว, ขีดจำกัดความเร็ว, เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 85 ของความเร็ว, ทางพิเศษบูรพาวิถี

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพก่อนและหลังการติดตั้งป้ายแจ้งเตือนความเร็วแบบพลังงานแสงอาทิตย์ บริเวณ กม. 14+600 I, 24+100 O และ 32+500 I บนทางพิเศษบูรพาวิถี ซึ่งได้รับการวิเคราะห์ระดับความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุ (Dangerous Factor) ว่าเป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ จากผลการศึกษาพบว่า พฤติกรรมการใช้ความเร็วภายในพื้นที่ศึกษามีความแตกต่างกันตามประเภทของยานพาหนะและตำแหน่งที่ดำเนินการติดตั้ง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับขีดจำกัดความเร็วตาม พรบ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ด้วยการพิจารณาค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ร้อยละ 85 ของความเร็ว พบว่า ยานพาหนะส่วนใหญ่มีแนวโน้มใช้ความเร็วมากกว่าขีดจำกัดความเร็วที่กฎหมายกำหนด เมื่อพิจารณาค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ร้อยละ 85 ของความเร็วเปรียบเทียบระหว่างก่อนและหลังการติดตั้งป้ายแจ้งเตือนความเร็วแบบพลังงานแสงอาทิตย์บนทางพิเศษบูรพาวิถี พบว่า ยานพาหนะส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดการใช้ความเร็วลงโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2.72 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าแนวโน้มการใช้ความเร็วจะลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับขีดจำกัดความเร็ว ตาม พรบ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 พบว่า การใช้ความเร็วของยานพาหนะยังมีค่ามากกว่าความเร็วตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น การทางพิเศษแห่งประเทศไทยจึงควรพิจารณาดำเนินการกำหนดขีดจำกัดของความเร็วที่เหมาะสม รวมทั้งปรับปรุงลักษณะทางกายภาพด้วยการนำมาตรการควบคุมความเร็วต่าง ๆ ที่เหมาะสม ซึ่งจะสามารถควบคุมการใช้ความเร็วของยานพาหนะและนำไปสู่การลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากความเร็วบนทางพิเศษบูรพาวิถีได้

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2021-06-24
สาขาของบทความ
วิศวกรรมขนส่ง จราจรอัจฉริยะ และโลจิสติกส์

แนะนำบทความที่มีผู้เขียนคนเดียวกันกับบทความนี้

1 2 3 > >>