การเสริมกำลังต้านทานแรงแผ่นดินไหวจุดต่อคาน-เสาคอนกรีตเสริมเหล็กภายนอกด้วยค้ำยันเหล็กกล่อง

  • กิตติศักดิ์ ขอนเอิบ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่
  • ปิยะพงษ์ วงค์เมธา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
  • ชินพัฒน์ บัวชาติ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
  • พุทธรักษ์ จรัสพันธุ์กุล ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
  • รัฐพล เกติยศ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่เชียงราย ประเทศไทย
  • ชยานนท์ หรรษภิญโญ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ประเทศไทย
คำสำคัญ: เสริมกำลัง, เสาอ่อนคานแข็ง, ค้ำยันเหล็กกล่อง, ติดตั้งได้ง่าย

บทคัดย่อ

    อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างโดยมิได้ออกแบบรับแผ่นดินไหวจะมีความอ่อนแอและเกิดความเสียหายที่จุดต่อหรือชิ้นส่วนเสา บทความนี้นำเสนอการทดสอบการเสริมกำลังจุดต่อคาน-เสาคอนกรีตเสริมเหล็กภายนอกของอาคารที่ไม่ได้รับการออกแบบให้รับแรงแผ่นดินไหว โดยทำการจำลองตัวอย่างจุดต่อภายนอกคาน-เสาคอนกรีตเสริมเหล็กของอาคาร 2 ตัวอย่างที่เหมือนกัน ขนาดหน้าตัดของคาน 0.15x0.40 เมตร และเสา 0.15x0.15 เมตร  ความยาวครึ่งช่วงพาดคาน และความสูงครึ่งชั้นเสา เท่ากับ 1.15 เมตร และ 1.91 เมตร ตามลำดับ และทำการเสริมกำลังโครงสร้างจุดต่อ 1 ตัวอย่างโดยการใช้ค้ำยันเหล็กกล่องที่สามารถติดตั้งได้ง่าย จากนั้นทำการทดสอบการให้แรงสลับทิศทางข้างไปมาจนกระทั่งเกิดความเสียหาย  จากการทดสอบพบว่า จุดต่อคาน-เสาที่ไม่ได้เสริมกำลังเกิดความเสียหายในบริเวณโคนเสาและจุดต่อมีการโยกตัวและความเหนียวต่ำ ทั้งนี้การเสริมกำลังด้วยค้ำยันเหล็กกล่องทำให้ระยะเสาสั้นลงและเพิ่มพื้นที่จุดต่อ ทำให้จุดต่อคาน-เสาสามารถรับแรงกระทำด้านข้างได้เพิ่มขึ้นมากกว่าตัวอย่างที่ไม่ได้รับการเสริมกำลังด้วยค้ำยัน และเปลี่ยนตำแหน่งการพังจากจุดต่อคานเสาไปที่คานส่งผลให้ความเหนียว และความแข็งของตัวอย่างเพิ่มขึ้น

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2021-06-24