การปรับปรุงคุณภาพวัสดุประสานจากเถ้าก้นเตา เพื่อพัฒนาศักยภาพในการต้านทานการกัดกร่อนของเหล็กเสริมในคอนกรีต

  • สุบรรณ สนิทอินทร์ ศูนย์เครื่องจักรกลการเกษตรแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน
  • ธีรเดช ทัพภะ
  • เพ็ญพิชชา สนิทอินทร์
  • นันทวัฒน์ ขมหวาน
  • ชิษณุพงษ์ สุธัมมะ
คำสำคัญ: การต้านทานการเกิดสนิมในเหล็กเสริมในคอนกรีต, การสูญเสียน้ำหนักของเหล็กเสริม, เถ้าก้นเตา

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มุ่งเน้นพัฒนาความสามารถในการรับกำลังและการต้านทานการเกิดสนิมในเหล็กเสริมในคอนกรีตที่ใช้เถ้าก้นเตาบางส่วนเป็นวัสดุประสาน ทำการปรับปรุงคุณภาพเถ้าก้นเตาโดยการนำมาร่อนผ่านตะแกรงมาตรฐานเบอร์ 30 จากนั้นนำมาบดให้มีความละเอียดค้างบนตะแกรงมาตรฐานเบอร์ 325 ประมาณร้อยละ 5 โดยน้ำหนัก และแทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ในอัตราร้อยละ 35 โดยน้ำหนักของวัสดุประสาน (BA) ผลการทดสอบพบว่าคอนกรีต BA มีกำลังอัดของคอนกรีตที่อายุ 7 และ 28 วัน สูงถึง 394 กก/ซม2 และ 496 กก/ซม2 ตามลำดับ โดยสามารถลดการใช้ปูนซีเมนต์ได้ถึง 135 กก/ม3 ผลการทดสอบการเกิดสนิมโดยวิธีเร่งด้วยไฟฟ้าพบว่าการไหลผ่านของกระแสไฟฟ้าในคอนกรีต BA มีค่าต่ำกว่าคอนกรีตควบคุมถึง 3-4 เท่าโดยประมาณ นอกจากนี้ความสามารถในการการต้านทานการเกิดสนิมของเหล็กเสริมคอนกรีตอยู่ในระดับที่มีความเป็นไปได้ร้อยละ 90 ที่จะไม่เกิดสนิม รวมทั้งการทดสอบการสูญเสียน้ำหนักของเหล็กเสริมพบว่าการใช้เถ้าก้นเตาเป็นวัสดุประสานทำให้คอนกรีตเสริมเหล็กมีการสูญเสียน้ำหนักของเหล็กเสริมเพียงร้อยละ 0.46 โดยน้ำหนัก ในขณะที่คอนกรีตควบคุมที่อัตราส่วนน้ำต่อวัสดุประสานเท่ากัน 0.45 และ 0.55 มีการสูญเสียน้ำหนักของเหล็กเสริมมากกว่า ซึ่งมีค่าเท่ากับร้อยละ 1.09 และ 1.27 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ ด้วยเหตุนี้เถ้าก้นเตาจึงมีศักยภาพสูงที่จะใช้เป็นวัสดุปอซโซลานในงานคอนกรีตได้เป็นอย่างดี

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2023-07-06

แนะนำบทความที่มีผู้เขียนคนเดียวกันกับบทความนี้