การศึกษาคุณสมบัติของอิฐทดแทนเพื่อใช้อนุรักษ์อาคารก่ออิฐโบราณ ชุมชนบ้านท่าแร่ จังหวัดสกลนคร

  • จารุวัฒน์ ถาวรไพศาลชีวะ สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา
  • ปกรณ์ พัฒนานุโรจน์
คำสำคัญ: อิฐทดแทน, ผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก, อาคารก่ออิฐโบราณ, ชุมชนบ้านท่าแร่

บทคัดย่อ

อาคารก่ออิฐโบราณในชุมชนบ้านท่าแร่ เป็นโครงสร้างผนังก่ออิฐรับน้ำหนัก ปัจจุบันอาคารก่ออิฐโบราณทั้ง 4 หลัง พบรอยแตกร้าวหลายแห่งโดยเฉพาะผนังก่ออิฐและซุ้มก่ออิฐวงโค้ง งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณสมบัติของอิฐทดแทน โดยใช้ดินเหนียวในพื้นที่มาผลิตอิฐด้วยวิธีการเผาแกลบ จากการศึกษา พบว่า 1) ลักษณะของดินที่ใช้ผลิตอิฐเป็นดินเหนียวปนทราย 2) การทดสอบกำลังรับแรงอัดของอิฐทดแทน กลุ่มตัวอย่าง A ดินเหนียวผสมเถ้าแกลบในอัตราส่วน ร้อยละ 4 % มีค่ากำลังรับแรงอัดสูงสุด ส่วนในกลุ่มตัวอย่าง B ดินเหนียวผสมทรายอัตราส่วน 20 % และเถ้าแกลบที่ 4 % มีค่ากำลังรับแรงอัดสูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่าง A มีค่ากำลังรับแรงอัดมากกว่ากลุ่มตัวอย่าง B แต่ผลการทดสอบของอิฐทั้ง 2 กลุ่มตัวอย่าง มีค่าสูงกว่าค่ามาตรฐาน (มอก. 77-2517) และ 3) การทดสอบการดูดซึมน้ำของอิฐทดแทนในกลุ่มตัวอย่าง A และ B พบว่า กลุ่มตัวอย่าง B มีค่าดูดซึมน้ำน้อยกว่า โดยผลทดสอบค่าการดูดซึมน้ำทั้ง 2 ตัวอย่าง มีค่าไม่เกินมาตรฐาน (มอก. 77-2517) การศึกษาอิฐทดแทนครั้งนี้เป็นหนึ่งในวิธีการอนุรักษ์อาคารเก่าให้คงสภาพดั้งเดิมและคงเอกลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมเอาไว้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถส่งเสริมให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมให้กับผู้ที่สนใจต่อไปได้

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2023-07-09