การศึกษาคุณสมบัติเชิงกลของผ้ากระสอบเส้นใยธรรมชาติผสมน้ำยางพาราธรรมชาติ
คำสำคัญ:
ผ้ากระสอบเส้นใยธรรมชาติ, น้ำยางพาราธรรมชาติ, กำลังรับแรงดึง, วัสดุคอมโพสิตบทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณสมบัติเชิงกลของวัสดุคอมโพสิตเสริมแรงด้วยผ้ากระสอบเส้นใยธรรมชาติผสมน้ำยางพาราธรรมชาติในสภาพแวดล้อมปกติ โดยใช้น้ำยางพาราสดและน้ำหมักผลไม้จากพื้นที่ ตำบลหนองบัว อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อทำเป็นวัสดุป้องกันการกัดเซาะตลิ่งที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นผลผลิตจากธรรมชาติ 100% โดยดำเนินการผสมน้ำยางพาราสดต่อน้ำหมักผลไม้ ที่อัตราส่วน 100:0, 95:5, 90:10, 85:15, 80:20 โดยน้ำหนัก นำไปประสานผ้ากระสอบเส้นใยธรรมชาติ และให้คงรูปด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน 3 วิธี ได้แก่ วิธีที่ 1 ปล่อยให้แห้งตามธรรมชาติ วิธีที่ 2 อบด้วยเตาอบลมร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 นาที และวิธีที่ 3 อบด้วยเตาอบลมร้อนที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 นาที จากนั้นนำชิ้นงานไปทดสอบสมบัติความสามารถในการต้านทานแรงดึง โดยยางพาราขึ้นรูปอ้างอิงตามมาตรฐาน ASTM D412 ในขณะที่วัสดุคอมโพสิต อ้างอิงตามมาตรฐาน ASTM D3039 และสัมประสิทธิ์การซึมผ่านน้ำ อ้างอิงตามมาตรฐาน ASTM D5084 และ ASTM D5856 ผลการทดสอบสมบัติความสามารถในการต้านทานแรงดึงของยางพาราขึ้นรูป พบว่า ทุกอัตราส่วนมีแรงดึงใกล้เคียงกัน แต่แตกต่างกันที่การยืดตัว โดยอัตราส่วน 90:10 โดยน้ำหนักมีการยืดตัวมากที่สุด รองลงมาเป็นชิ้นงานที่มีอัตราส่วน 95:5, 85:15, 100:0, 80:20 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ ในส่วนวัสดุคอมโพสิตการยืดตัวมีอัตราใกล้เคียงกันแต่แตกต่างกันที่ความสามารถในการต้านทานแรงดึง โดยอัตราส่วน 95:5 โดยน้ำหนัก มีแรงดึงมากที่สุด รองลงมาเป็นชิ้นงานที่มีอัตราส่วน 85:15, 90:10, 100:0, 80:20 โดยน้ำหนัก ตามลำดับ เมื่อพิจารณาแรงดึงจากการปรับปรุงคุณภาพยาง พบว่า วิธีอบลมร้อนที่อุณหภูมิ 60 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 นาทีให้ค่าการต้านทานแรงดึงสูงสุด รองลงมาเป็นชิ้นงานที่อบลมร้อนที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 60 นาที และปล่อยให้แห้งตามธรรมชาติให้ค่าความต้านทานแรงดึงต่ำสุด ในส่วนสัมประสิทธิ์การซึมผ่านน้ำ พบว่า ทุกอัตราส่วนมีสัมประสิทธิ์การซึมผ่านน้ำต่ำมาก หรือไม่มีการสูญเสียน้ำ
##plugins.generic.usageStats.downloads##
ดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
วิธีการอ้างอิง
ฉบับ
บท
การอนุญาต
บทความทั้งหมดที่ได้รับการคัดเลือกให้นำเสนอผลงานในการประชุมวิชาการวิศวกรรมโยธาแห่งชาติ ครั้งที่ 27 นี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์