การศึกษาคุณภาพน้ำสำหรับอุปโภคและบริโภคของเกาะสีชัง ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์

  • จุฑามาศ ศรีสุข ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
  • อุมา สีบุญเรือง
  • พิณิช ธนชัยโชคศิริกุล
  • อุบะ ศิริแก้ว
คำสำคัญ: แผนที่คุณภาพน้ำ, คุณภาพน้ำประปาดื่มได้, เกาะสีชัง, เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ

บทคัดย่อ

ปัจจุบันเกาะขนาดกลางและขนาดเล็กกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำจืดสำหรับอุปโภค บริโภค โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นเกาะท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง แต่เกาะมีขนาดเล็ก เนื่องจากถูกจำกัดทางด้านคุณสมบัติทางกายภาพ ภูมิประเทศ และทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ส่งผลกระทบต่อคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เกาะอย่างรุนแรงโดยเฉพาะฤดูแล้ง เกาะสีชังถูกเลือกนำมาพิจารณาเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ข้างต้นทุกปี พื้นที่เกาะสีชังมีบ่อน้ำธรรมชาติที่เกิดจากน้ำซับและน้ำผิวดิน การพิจารณาถึงคุณภาพน้ำใต้ดิน และผิวดิน ที่เป็นแหล่งน้ำจืด เพื่อการปรับปรุงคุณภาพที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการอุปโภค บริโภค จะช่วยให้ประชาชนมีสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี ดังนั้นการศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบคุณภาพน้ำที่ใช้อุปโภค บริโภคของคนบนเกาะสีชัง ตามมาตรฐานน้ำประปาดื่มได้ กรมอนามัย 2563 เพื่อใช้สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำผิวดินและจัดทำแผนที่คุณภาพน้ำ เพื่อเป็นแนวทางการประเมินคุณภาพน้ำใต้ดินสำหรับพื้นที่เกาะสีชัง การศึกษานี้มีข้อมูลนำเข้าประกอบด้วย แบบจำลองความสูงเชิงเลข ความลาดชัน เส้นทางน้ำ การใช้ประโยชน์ที่ดิน และทำการสุ่มเก็บ ตัวอย่างน้ำจากอ่างเก็บน้ำ และบ่อน้ำ ที่คนในชุมชนใช้อุปโภค บริโภค จำนวน 9 จุด ครอบคลุมพื้นที่เกาะสีชัง แผนที่คุณภาพน้ำถูกการประมาณด้วยวิธี Inverse distance weighting method (IDW) และนำเสนอผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ (Geographic Information System: GIS) ผลการศึกษาพบว่า เมื่อพิจารณาคุณภาพน้ำตามเกณฑ์มาตรฐานน้ำประปาดื่มได้ของกรมอนามัย 2563 พื้นที่เกาะสีชังมีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์อนุโลม สามารถนำไปใช้ในการอุปโภคบริโภคได้หากไม่มีแหล่งน้ำอื่น ๆ แต่ต้องมีการปรับปรุงคุณภาพน้ำโดยการต้มเสียก่อน เนื่องจากมีพบ Coliform Bacteria และ เชื้อโรค E.coli. ซึ่งเป็นเชื้อโรคที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วง อย่างไรก็ตาม บริเวณทิศใต้ของเกาะสีชัง ไม่มีบ้านเรือนปลูกสร้างบริเวณนั้น แต่เป็นพื้นที่บ่อขยะ ส่งผลให้คุณภาพน้ำถูกปนเปื้อนด้วยสารอันตรายหลายชนิด เช่น สารหนู และฟลูออไรด์ ไม่ควรใช้น้ำบริเวณนั้น

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2022-09-19
สาขาของบทความ
วิศวกรรมแหล่งน้ำ

แนะนำบทความที่มีผู้เขียนคนเดียวกันกับบทความนี้