ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ต่อพฤติกรรมการเดินทางของผู้โดยสารรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

  • จณิตตา จารุวัฒนานนท์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
คำสำคัญ: แบบจำลอง Multinomial Logit, การเลือกรูปแบบการเดินทาง, สถานการณ์สมมติ, COVID-19

บทคัดย่อ

ปัจจุบันทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมาก จากสถานการณ์ดังกล่าวทางรัฐบาลไทยได้กำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของ COVID-19 ซึ่งมาตรการดังกล่าวส่งผลทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ของประชาชนลดลง รวมถึงความกังวลส่วนบุคคลต่อความเสี่ยงในการติดเชื้อ COVID-19 ทำให้ประชาชนเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการดำเนินชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมในการเดินทาง เช่น การหลีกเลี่ยงการเดินทางโดยระบบขนส่งสาธารณะและเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการเดินทางอื่น เช่น รถยนต์ส่วนบุคคล การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนี้สามารถส่งผลกระทบต่อปริมาณจราจรบนท้องถนน ประสิทธิภาพของระบบขนส่งสาธารณะ และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ดีการมีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ดีสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน และลดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเดินทางได้ ดังนั้นการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของมาตรการป้องกัน COVID-19 ได้แก่ มาตรการด้านการกักตัว การใส่หน้ากาก ปัจจัยเกี่ยวกับลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคม และทัศนคติเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต่อการตัดสินใจเลือกรูปแบบการเดินทางในสถานการณ์สมมติที่มีเงื่อนไขของจำนวนผู้ติดเชื้อภายในประเทศและเปอร์เซ็นต์การได้รับวัคซีนที่แตกต่างกัน โดยใช้ข้อมูลจาก Stated Preference Survey สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ที่ใช้รถไฟฟ้าในการเดินทาง และมีทางเลือกในการเดินทางเป็นรถยนต์ส่วนบุคคล และวิเคราะห์ผลกระทบของมาตรการและปัจจัยอื่น ๆ โดยใช้สถิติเชิงพรรณา และแบบจำลอง Multinomial Logit ในการวิเคราะห์ตัวแปรที่ส่งผลต่อการตัดสินใจในการเลือกรูปแบบการเดินทางในแต่ละสถานการณ์ โดยผลการศึกษานี้สามารถนำไปใช้กำหนดนโยบายการป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่เหมาะสมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้เดินทางได้

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2021-06-24
สาขาของบทความ
วิศวกรรมขนส่ง จราจรอัจฉริยะ และโลจิสติกส์