การประเมินความถูกต้องของแบบจำลองระดับภูมิประเทศเชิงเลขจากเทคนิคการจำแนกกลุ่มจุดพิกัดสามมิติ ของการรังวัดภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก

  • ต่อลาภ การปลื้มจิตร สาขาวิชาวิศวกรรมสำรวจ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย
คำสำคัญ: การจำแนกจุดพิกัดสามมิติ, การรังวัดภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับ, แบบจำลองระดับภูมิประเทศเชิงเลข

บทคัดย่อ

บทความนี้เป็นการนำเสนอการประเมินความถูกต้องของแบบจำลองระดับภูมิประเทศเชิงเลขจากเทคนิคการจำแนกกลุ่มจุดพิกัดสามมิติของการรังวัดภาพถ่ายจากอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพและเปรียบเทียบความถูกต้องเชิงตำแหน่งของแบบจำลองระดับภูมิประเทศเชิงเลขที่ได้จากอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็กที่เป็นที่นิยมในท้องตลาดกับการสำรวจภาคสนามโดยใช้วิธีการสำรวจระดับ และเปรียบเทียบค่าความต่างระดับระหว่างแบบจำลองระดับภูมิประเทศเชิงเลขและแบบจำลองพื้นผิวเชิงเลข ประเมินคุณภาพความถูกต้องเชิงตำแหน่งโดยใช้จุดตรวจสอบทั้งหมดจำนวน 30 จุดบริเวณพื้นที่บ้านสวนตูล จังหวัดสงขลา จากทั้งหมด 3 พื้นที่ ได้แก่ พื้นตั้นไม้หนาแน่น พื้นตั้นไม้โปร่งไม่หนาแน่น และพื้นที่อาคารสิ่งปลูกสร้างพบว่าผลการประเมินค่าความละเอียดถูกต้องทางดิ่ง เท่ากับ 0.111 เมตร และผลการประเมินค่าความละเอียดถูกต้องที่ความเชื่อมั่นร้อยละ 95 เท่ากับ 0.217 เมตร สามารถนำไปสร้างแผนที่เส้นชั้นความสูงที่มีช่วงของเส้นชั้นความสูง ไม่น้อยกว่า 0.364 เมตร และสามารถผลิตเป็นแผนที่เส้นชั้นความสูงได้ละเอียดที่สุดเท่ากับมาตรส่วน 1:500 ส่วนการตรวจสอบค่าระดับระหว่างแบบจำลองพื้นผิวเชิงเลขกับแบบจำลองลักษณะภูมิประเทศเชิงเลขที่ได้จากอากาศยาน สามารถสกัดความสูงของต้นไม้บริเวณพื้นที่ต้นไม้หนาแน่นและพื้นที่ต้นไม้ไม่หนาแน่นได้ดีในช่วงบริเวณต้นไม้ที่มีความสูงมากว่า10 เมตร เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 14.325 เมตร ส่วนช่วงบริเวณต้นไม้ที่มีความสูงน้อยกว่า 10 เมตร เฉลี่ยอยู่ที่ 6.175 เมตร และแบบจำลองลักษณะภูมิประเทศเชิงเลขสามารถสกัดความสูงของพื้นที่อาคารได้ดีในช่วงบริเวณที่มีความสูงอาคารมากกว่า 5 เมตร เฉลี่ยอยู่ที่ 8.780 เมตร ส่วนช่วงบริเวณที่มีความสูงอาคารน้อยกว่า 5 เมตร เฉลี่ยอยู่ที่ 4.798 เมตร 

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2021-06-24
สาขาของบทความ
วิศวกรรมสำรวจและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์

แนะนำบทความที่มีผู้เขียนคนเดียวกันกับบทความนี้