การเลือกพืชไม้ประดับเพื่อใช้ในผนังพืชแนวดิ่งสำหรับลดฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน ภายในอาคาร

  • อิทธิ ผลิตศิริ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ
  • วรรณวิทย์ เเต้มทอง ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพฯ
คำสำคัญ: ผนังพืชแนวดิ่ง, ฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน, พืชไม้ประดับ, ภายในอาคาร, มลพิษทางอากาศ

บทคัดย่อ

ปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหามลพิษทางอากาศ จากฝุ่นละอองที่มีอนุภาคขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชากร อย่างไรก็ตามฝุ่น PM2.5 ไม่ได้อยู่แต่ในที่โล่งแจ้งเท่านั้น ยังพบว่ามีปริมาณฝุ่น  PM2.5 ที่เกินค่ามาตรฐานในทางเดินภายในอาคาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ใช้อาคาร งานวิจัยนี้ทำการเลือกพืชไม้ประดับ 10 ชนิด เพื่อนำมาใช้ในการลดฝุ่น PM2.5 บริเวณทางเดินภายในอาคารซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการปรับอากาศ โดยทำการทดลองในกล่องให้อยู่ในลักษณะผนังแนวดิ่งและติดตั้งพัดลมหมุนเวียนอากาศบริเวณด้านล่างของผนังพืช การทดลองแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ เปิดพัดลมหมุนเวียนอากาศ และ ไม่เปิดพัดลมหมุนเวียนอากาศ เพื่อวิเคราะห์หาวิธีการติดตั้งและชนิดของพืชที่ช่วยลดฝุ่น PM2.5 ผลการศึกษาพบว่า ต้นพรมญี่ปุ่นสามารถลดฝุ่น PM2.5 ได้ดีที่สุด โดยลดได้ 6.17 * 10-3 µg/m3/cm2/hrs เมื่อเปิดพัดลมหมุนเวียนอากาศ และ 6.32 * 10-3 µg/m3/cm2/hrs เมื่อไม่เปิดพัดลมหมุนเวียนอากาศ อีกทั้งยังค้นพบว่าการเปิดพัดลมหมุนเวียนอากาศภายในกล่องทดลองผ่านผิวใบของพืช สามารถควบคุมปริมาณฝุ่น PM2.5 ให้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้ ภายใน 30 นาที ในขณะที่การทดลองในรูปแบบไม่เปิดพัดลมหมุนเวียนอากาศ สามารถควบคุมปริมาณฝุ่น PM2.5 ให้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานได้ภายใน 2 ชั่วโมง 30 นาที ดังนั้นการศึกษาครั้งนี้ แนะนำให้ใช้ต้นพรมญี่ปุ่นติดตั้งในรูปแบบผนังพืชแนวดิ่งและใช้พัดลมสำหรับดูดฝุ่น PM2.5 ผ่านผิวใบของพืชเพื่อลดมลพิษทางอากาศภายในอาคาร

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2021-06-24