แนวทางการประยุกต์ใช้กูเกิลเอิร์ธเอนจินเพื่อการเฝ้าติดตามและประเมินผลความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

  • พ.อ.ดร.พงศ์พันธุ์ จันทะคัต กองวิชาวิศวกรรมโยธา ส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า
คำสำคัญ: กูเกิลเอิร์ธเอนจิน, เฝ้าติดตามและประเมินผลความเสียหาย, ภัยธรรมชาติ, ภาพถ่ายดาวเทียม

บทคัดย่อ

การเฝ้าติดตามและประเมินผลความเสียหายจากภัยธรรมชาติเป็นข้อมูลที่มีค่าและประโยชน์เพื่อการจัดการภัยธรรมชาติ การสื่อสาร และการบรรเทาสาธารณภัยในช่วงเวลาของการเกิดภัยธรรมชาติ การศึกษานี้ได้เสนอแนวทางการประยุกต์ใช้กูเกิลเอิร์ธเอนจินเพื่อการเฝ้าติดตามและประเมินผลความเสียหายจากภัยธรรมชาติโดยการวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม Sentinel-1 Synthetic Aperture Radar (SAR) ซึ่งการศึกษานี้ได้มุ่งเน้นการวิเคราะห์และประเมินผลภัยน้ำท่วมช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 ในพื้นที่อำเภอปักธงชัย และอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา และไฟป่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ในบริเวณพื้นที่เทือกเขา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าภัยน้ำท่วมช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2563 ในอำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา คาดการณ์ว่ามีพื้นที่น้ำท่วมขัง 65 ตร.กม. จำนวนผู้ประสบภัย 7,126 คน พื้นที่เพาะปลูกที่ถูกผลกระทบ 883 ตร.กม. และพื้นที่ชุมชมที่ถูกผลกระทบ 68 ตร.กม. และในอำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา คาดการณ์ว่ามีพื้นที่น้ำท่วมขัง 34 ตร.กม. จำนวนผู้ประสบภัย 25,505 คน พื้นที่เพาะปลูกที่ถูกผลกระทบ 709 ตร.กม. และพื้นที่ชุมชนที่ถูกผลกระทบ 1,420 ตร.กม. สำหรับพื้นที่ความเสียหายจากไฟป่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ในบริเวณพื้นที่เทือกเขา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก คาดการณ์ว่ามีพื้นที่ความเสียหายจากไฟไหม้ป่าในระดับความรุนแรงมาก ~0.2 ตร.กม. (0.36% ของพื้นที่ศึกษา) ระดับความรุนแรงปานกลาง ~11 ตร.กม. (20.44% ของพื้นที่ศึกษา) ระดับความรุนแรงต่ำ ~16 ตร.กม. (29.42% ของพื้นที่ศึกษา) ขนาดพื้นที่ที่มีการฟื้นฟูของป่าไม้ในระดับการฟื้นฟูต่ำ ~2.43 ตร.กม. (4.39% ของพื้นที่ศึกษา) ระดับการฟื้นฟูสูง ~0.08 ตร.กม. (0.14% ของพื้นที่ศึกษา) และพื้นที่ที่คาดการณ์ว่าไม่ได้ถูกผลกระทบจากไฟไหม้ป่า ~25 ตร.กม. (45.25% ของพื้นที่ศึกษา)

จำนวนการดาวน์โหลด

ยังไม่มีข้อมูลการดาวน์โหลด
เผยแพร่แล้ว
2021-06-24